บิ๊กทุนแจม‘ไฮสปีดเฟส 2’

25 ก.ค. 2563 | 10:15 น.

บิ๊กทุน ไทย-เทศ ฝ่าโควิด ขอแจม ไฮสปีดอีอีซี ต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด พร้อมรถไฟทางคู่ รวมแสนล้าน เปิด Market Sounding ร่วมทุนพีพีพี 24 ก.ค.นี้ แย้มมี ยักษ์จีนไชน่าเรลเวย์ หอการค้าฝรั่งเศส ดอยซ์แบงก์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศษ ญี่ปุ่น เกาหลี สนพรึบ ด้านฝั่งไทยมาครบซิโน-โทย บีทีเอส ช.การช่าง บีอีเอ็ม กลุ่มซีพี

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจ้างกลุ่ม บริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัททีม คอลซัลติ้ง เอนจิเนียริ่งแอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด(มหาชน) บริษัททีแอลที คอนซัลแตนส์จำกัด บริษัทวิศวกรรมธรณีและฐานรากจำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด และบริษัทดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ให้ดำเนินงานจ้างที่ปรึกษาความเหมาะสม ด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจสังคมการเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะเวลา 240 วันนั้น ล่าสุด ร่างผลการศึกษาแล้วเสร็จ เปิดประชุมประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชนหรือ Market Sounding วันที่ 24 กรกฎาคม พร้อมเปิดรับความคิดเห็นข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านจากภาครัฐ เอกชนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง

แหล่งข่าวจาก บริษัท ดาวฤกษ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท ส่งแบบตอบรับเพื่อประเมินความสนใจเบื้องต้นภาคเอกชน (Market Sounding) กรณีร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินระยะที่2ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 200 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะทาง 260 กิโลเมตร มูลค่าราวกว่า1แสนล้านบาท ปรากฎว่ามีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ ให้ความสนใจตอบรับเข้าร่วม รับฟัง ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ จำนวน 150 ราย จาก 300 กลุ่มนักลงทุนทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563)

สำหรับ กลุ่มเอกชน ต่างชาติ มีหอการค้าจำนวน 36 ประเทศ บริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ สถาบันการเงิน ที่ตอบรับเข้าร่วม อย่าง ประเทศจีน บริษัทไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) กลุ่มทุนญี่ปุ่น เกาหลี หอการค้าฝรั่งเศส ทูตฝรั่งเศส ดอยซ์แบงก์ สถาบันการเงินระดับโลกจากเนเธอร์แลนด์ ขณะประเทศไทย บริษัทรับเหมารายใหญ่และผู้รับสัมปทาน โครงการขนาดใหญ่ระบบราง-โครงสร้างพื้นฐานรัฐ อาทิ บริษัท ซิโน-โทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บีทีเอสกรุ๊ป บมจ. ช.การช่าง บีอีเอ็ม ยูนิค อิตาเลียนไทย ส่วนเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ได้สัมปทานไฮสปีดอีอีซีระยะแรก อยู่ระหว่างตอบรับ ขณะที่สถาบันการเงิน ได้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนชาติ เกียรตินาคิน ฯลฯภาครัฐที่เข้าร่วมมีหลายหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงการคลัง เป็นต้น

“ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมีสูง ช่วยกระจายความเจริญออกสู่ภาคตะวันออก เชื่อมประเทศเพื่อนบ้านสนับสนุนความเป็นมหานครผลไม้ การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าจาก กรุงเทพมหานคร ถึงชายแดน จังหวัดตราด ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชาและยังเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนด้านตะวันออกอีกด้วย”

ขณะที่มูลค่าโครงการที่ศึกษาไว้ 44,900 ล้านบาทไม่รวมค่าเวนคืน ซึ่งอาจมีการปรับราคา ตามความเป็นจริง ณ เวลาปัจจุบัน ทั้งนี้หากก่อสร้างจะเริ่มจาก ปี 2571-2612 คาดว่าจะมีผู้โดยสารปี 2571 จำนวน 7,429 คนต่อเที่ยวต่อวัน ปี 2581 จำนวน 10,896 คนต่อเที่ยวต่อวัน ปี 2591 จำนวน 15,251 คนต่อเที่ยวต่อวัน

นอกจากนี้ จะพัฒนารถไฟทางคู่ คู่ขนานกันไปกับไฮสปีดอีอีซีเฟส2 จาก ระยอง ต่อจากสถานีมาบตาพุด-ด่านพรมแดนคลองใหญ่จังหวัด ตราด ตลอดแนวเวนคืนเปิดหน้าดินใหม่ทั้งหมด เขตทางกว้าง 50 เมตร ระยะทาง 260 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือก ต่อเชื่อมเส้นทางกับไฮสปีดล่าสุดได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว โดยใช้งบลงทุน 9 หมื่นล้านบาท

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563