แบงก์กรุงเทพกำไรสุทธิหดหลังกันสำรอง

21 ก.ค. 2563 | 16:03 น.

ธนาคารกรุงเทพประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2 และครึ่งปี 2563 หดตัว 66% และ 41% ตามลำดับ

ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิครึ่งแรก 10,765 ล้านบาทลดลง7,610ล้านบาทหรือ- 41%จากช่วงเดียวกันปีก่อน
 

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย ไตรมาส2ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 13,238ล้านบาทเพิ่มขึ้น5,087ล้านบาท และครึ่งปี 18,325ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่างวดแรกปี 2562 จ านวน 10,627 ล้านบาท เป็นผลจากการพิจารณาคาดการณ์ปัจจัยทางเศรษฐกิจในอนาคตที่สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ
 

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักทั่วโลกและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19  ธนาคารกรุงเทพยังคงยึดมั่นแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงินและเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืนพร้อมก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ของการดำเนินชีวิต (New Normal) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,353,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการสินเชื่อที่คาดไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน
 

สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 170.5
 

ทั้งนี้ ธนาคารยังคงอยู่เคียงข้างและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ของการดำเนินชีวิต (New Normal) พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังทั้งในภาวะเศรษฐกิจปกติและภาวะถดถอย
 

ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,852,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินรับฝากเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากเงินรับฝากทุกประเภท จากการที่ลูกค้ามุ่งเน้นการบริหารสินทรัพย์โดยเน้นกลยุทธ์เชิงคุณภาพ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 82.5 สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 16.6 ร้อยละ 14.0 และร้อยละ 14.0 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
 

กำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยไตรมาส2และครึ่งปี 2563 จำนวน 3,095 ล้านบาทหดตัว 66.88% จาก 9,347ล้านบาท และครึ่งปีมีจำนวน 10,765 ล้านบาทลดลง 7,610 ล้านบาทหรือ 41% ตามลำดับ

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2563 จำนวน 10,765 ล้านบาท ซึ่งได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่วันที่ธนาคารเข้าถือหุ้น โดยกำไรสุทธิลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากธนาคารมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อกันเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการคาดการณ์วิกฤตในครั้งนี้ยังยากที่จะคาดคะเนเพราะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบกว้างไกลต่อระบบเศรษฐกิจโลกไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจโดยตรงเหมือนที่ผ่านมาในอดีต
 

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6  หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8  ตามการเติบโตของสินเชื่อ  ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 2.31 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง สาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อตาม TFRS 9   สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับครึ่งแรกของปี 2562 โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 45.0 โดยธนาคารยังคงดูแลค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย เน้นการใช้จ่ายที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยด้านสาธารณสุข รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงระบบงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และชะลอการใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นในช่วงภาวะซบเซา
การนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่มาถือปฏิบัติ
 

ธนาคารและบริษัทย่อยได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป  โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง  การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่  การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง  และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR)