2 เดือนสต็อกปาล์มพุ่ง4.9แสนตัน ห่วงล้นตลาด-ราคาร่วง

21 ก.ค. 2563 | 08:41 น.

พาณิชย์ห่วงปาล์มเจอวิกฤตสต็อกล้น-ราคาตกต่ำ คน.เผย2เดือนพุ่งเกิน4.9แสนตัน เร่งผลักดัน กฟผ.-ปั๊ม-ส่งออกดูดซับส่วนเกิน

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กำลังมีความกังวลเรื่องสต๊อกน้ำมันปาล์มล้นตลาดและกระทบต่อราคาผลปาล์มทะลายลดลง โดยสต็อกปาล์มน้ำมันดิบเพิ่มจาก 1.7 แสนตันในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 4.9 แสนตันในเดือนกรกฎาคม ผลจากการล็อกดาวน์ประเทศกระทบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยวทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลบี20และบี100 ที่ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบลดลงกว่า 20% รวมถึงการบริโภคภายในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมลดลง สวนทางกับปริมาณผลปาล์มทะลายยังออกสู่ตลาดเพิ่มจากวันละ 1.5-1.6 ล้านตัน เป็น 1.7 ล้านตัน

2 เดือนสต็อกปาล์มพุ่ง4.9แสนตัน  ห่วงล้นตลาด-ราคาร่วง

 “ ขณะนี้ราคาผลปาล์มเหลือ 3.00-3.20 บาทต่อกก. จากก่อนหน้านี้เกือบ 4 บาทต่อกก. และน้ำมันปาล์มดิบเหลือ 19-21 บาท/กก. จากก่อนหน้านี้เกิน 22 บาท/กก. หากปล่อยไปอาจมีผลกระทบอีกครั้ง “นายวิชัย กล่าว

 อย่างไรก็ตามกรม.ต้องเร่งแก้ปัญหาและออกมาตรการรับมือ โดยเร่งรัดการดูดซับน้ำมันส่วนเกินออกจากสต๊อกซึ่งเพียง 3 เดือนปริมาณสูงถึง 4.9 แสนตัน เบื้องต้นกรมประสานให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เร่งรับมอบน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่เหลืออีก 3.7 หมื่นตันภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า และตามมติ ครม.มอบหมายให้ กฟผ.ซื้อเพิ่มอีก 2 แสนตัน พร้อมกันนี้เร่งรัดการเพิ่มผลิตบี100และบี20หลังจากมีการคลายล็อกแล้วทำให้การเดินทางท่องเที่ยวและการบริโภคเพิ่มขึ้น และเตรียมหารือกรมส่งเสริมการส่งออกในการเร่งรัดการส่งออก

2 เดือนสต็อกปาล์มพุ่ง4.9แสนตัน  ห่วงล้นตลาด-ราคาร่วง

 “ปัญหาปาล์มตอนนี้คือภาคบริโภคลดลงแต่ผลผลิตเพิ่มขึ้น จนกระทบต่อราคาปาล์มลดลง ไม่ได้เกิดจากการลักลอบนำเข้าจนเกิดภาวะปาล์มสต็อกล้น เพราะเทียบราคาไทยกับมาเลเซียห่างกันเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม จึงไม่คุ้มที่จะลักลอบ ไม่เหมือนอดีตราคาห่างกัน3-4 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามกรมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อนำเสนอมาตรการในการเร่งดูแลให้ทันเวลา “นายวิชัยกล่าว

ส่วนความคืบหน้าติดตั้งมิเตอร์เพื่อวัดปริมาณสต็อกน้ำมันในแทงก์เก็บน้ำมันอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างหลังจากที่มีการชะลอไปก่อนเนื่องจากงบประมาณถูกกันไปช่วยแก้ปัญหาภัยโควิด-19