สุวัจน์ แนะทางแก้ศก.ต้องเร็ว แรง ตรงเป้าหมาย ช่วย SMEจริงจัง

21 ก.ค. 2563 | 07:58 น.

“สุวัจน์” มองแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจ สู้โควิด 19 ต้องเร็ว แรง ตรงเป้าหมาย ย้ำต้องช่วย SME อย่างจริงจัง คนตกงาน ฐานภาษี ค่าเงินบาท วางแผนงบปี 65 ต้องตอบโจทย์

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

 

วานนี้ (20 ก.ค. 2563) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์รายการคนหลังข่าว สถานีโทรทัศน์ TNN 16 ในประเด็นทางรอดเศรษฐกิจไทยยุควิกฤต “โควิด 19” ว่าวันนี้เราไม่ต้องไปกังวลว่าเราวิกฤตคนเดียวหรือเปล่าเพราะทั่วโลกเป็นเหมือนกันหมด เราอย่าท้อถอย เราต้องสู้ สู้วิกฤติที่เกิดมาครั้งนี้ ถือว่าเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุด คือปีนี้ทั้งปีเศรษฐกิจติดลบไป 10%  เท่ากับเราถอยหลังไป 3 ปี สมมุติปีหน้าเรากลับมาเป็นปกติได้คือ บวกสาม และที่ติดลบมาแล้ว 10 เท่ากับเราต้องใช้เวลาอีกสามปีกว่าจะมาเป็นศูนย์ก่อน และอีกหนึ่งปีถึงจะมาเป็นบวกสาม สรุปจากวันนี้ไปอย่างน้อย 4-5 ปีถึงกลับมาจุดเดิม

 

ฉะนั้น ถ้าเรามองเป็นสองเฟสในการที่เราจะฟื้นตัวเศรษฐกิจ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร เริ่มต้นตั้งแต่เกิดโควิด เรามีเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท มีสองก้อนที่เป็นเงินที่เกี่ยวกับข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง คือ 4 แสนล้าน เงินที่จะไปช่วยสร้างโครงการต่างๆ ในชนบท เพื่อให้เกิดการสร้างงานและอีก 5 แสนล้าน ไปให้กับ SME รวมเป็นเงิน 9 แสนล้าน ส่วนที่เหลือเป็นเงินทางด้านอื่น

 

“ผมคิดว่าวันนี้ในการฟื้นตัวของเราต้อง 1.เร็ว 2.แรง 3.ตรงเป้า ต้องเร็ว มาตรการต่างๆต้องเร็วหมายความว่า สมมุติเรามีโครงการอยู่แล้ว 4 แสนล้านที่จะไปช่วยโครงการต่างๆ ในชนบท หรือ 5 แสนล้านในเรื่องซ็อบโลน์ SME วันนี้ถ้าเราดูมันน่าจะเร็วกว่านี้ แต่มันก็มีเงื่อนไขในการปล่อยเงินที่ทำให้ล่าช้าเพราะธนาคารก็มีมาตรการของธนาคารในเงื่อนไขมากมาย SME ก็ไม่ได้เงินเมื่อ SME ไม่ได้เงิน SME ก็ต้องปิดกิจการ คนก็ตกงาน สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือ กลัวร้านค้าปิดกิจการ กลัวคนตกงาน”


วันนี้มาตรการต่างๆไม่ว่าจะเป็นซ็อบโลน์ 5 แสนล้าน หรือ 4 แสนล้านโครงการไปสร้างงานในชนบท วันนี้ก็เพิ่งอนุมัติไปไม่ถึง5 หมื่นล้าน อย่างนี้ทำอย่างไรจะให้มันเร็วขึ้น และเรื่องของ SME รัฐบาลก็ต้องรับปัญหารับโจทย์มาในการที่ต้องคุยกับธนาคารพาณิชย์ เรียกเอสเอ็มอี เรียกแบงค์ชาติ มาหารือกันว่าจะตั้งกฎเกณฑ์อะไรที่มันจะทำให้เกิดการเดินสายกลางให้พวก SME ได้เงินและไปประกอบกิจการ

 

ฉะนั้น ผมจึงบอกว่าทุกคนต้องเข้าใจว่าในการเข้าไปทำงานเม็ดเงินนี้เป็นเม็ดเงินกู้ ที่ทุกคนเป็นลูกหนี้ร่วมกันทุกคนต้องระมัดระวังจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น งานนี้รัฐบาลก็ต้องเป็นเจ้าภาพในการที่จะสร้างกฎเกณฑ์ให้ทุกคนทำงานด้วยความสบายใจและมีความคล่องตัวในเงื่อนไขต่างๆที่ทุกฝ่ายรับกันได้


และ 2. ต้องแรง วันนี้เงิน 1.9 ล้านล้านพอหรือเปล่า เราก็ต้องคอยประเมินว่าเงิน 5 แสนล้าน หรือเงิน 4 แสนล้าน แรงพอไหม ไม่พอต้องเพิ่ม ถ้าเพิ่มจะเอาเงินที่ไหนก็ต้องคิดต่อไป แต่ว่าตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของเม็ดเงินที่กำลังลงไป ฉะนั้น ความเร็วบวกกับความแรงถ้าไม่พอก็ต้องใส่เพิ่มใส่ความแรงเข้าไป เพื่อเป็นการกระตุ้นจริงๆ

 

3. ต้องตรงเป้าหมาย คือ กระสุนต้องเร็วแรงไปตรงเป้า และมี Multiplier ตัวอย่าง โครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน ทุกกิจการได้ประโยชน์หมด รัฐบาลออก 40% คุณจ่าย 60% เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปทุกกลุ่ม

 

“ผมมองว่าความเร็ว ความแรง และตรงเป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้รัฐประสบความสำเร็จในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราก็เริ่มต้นด้วยเงินแค่นี้ก่อน” นายสุวัจน์ กล่าวและย้ำว่า

 

“ตอนนี้ SME ต้องเป็น Supply Chain ที่สำคัญให้เข้าไปในขบวนการต่างๆ ของเศรษฐกิจ ก็ต้องเร่งแก้ไขเพราะถ้า SME เป็นอะไรไป อุตสาหกรรมอื่นก็หยุด ต้องตกงานกันมหาศาล ฉะนั้น สิ่งนี้ต้องเข้าไปแก้ไขเรื่องของ SME โดยด่วน”


 

 

สุวัจน์ แนะทางแก้ศก.ต้องเร็ว แรง ตรงเป้าหมาย ช่วย SMEจริงจัง

 

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือ การว่างงาน ตัวเลขขณะนี้ราว 6-7 ล้านคน ที่เกิดจากโควิด และเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเราต้องมาดูเรื่องการ Reskilled ของภาคแรงงานให้เข้ากับงานใหม่แล้วต้องไม่มองว่าเทคโนโลยีเข้ามาแล้วอาจไปทำให้สถานภาพของแรงงานเดิมน้อยลง แต่เทคโนโลยีก็สร้างงานใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น ต้องวางแผนให้ทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้

 

นายสุวัจน์ บอกว่า ผมนึกถึงสมัยหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ตอนนั้นคนตกงานเยอะ ท่านก็ผันเงินเรียกว่า โครงการพัฒนาชนบท เงินผัน ประมาณสองพันล้าน คือ แทนที่จะเอารถขุดไปขุดดิน ก็เอาคนขุดดินแทน สมมุติ รถขุดดิน 1 คิวอาจจะ 5 บาท  คนขุดดินอาจจะ 30 บาท อาจจะแพงกว่าแต่ คนได้งานทำ เหมือนช่วงนี้ ที่คนว่างงาน ตกงาน เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ ก็สามารถที่จะไปทำงาน ในชนบทตาม อบต. อบจ. ต่างๆ  ตามกองทุนหมู่บ้านต่างๆ  เรามีหมู่บ้านกว่า 70,000 หมู่บ้าน คนแบบนี้ไปอยู่ในหมู่บ้านละ 2 คน  ก็แสนห้าหมื่นคน ได้ไปช่วยพัฒนา ให้ความรู้ ไปช่วยสร้าง System ต่างๆ ในการทำงาน

 

ทำอย่างนี้ นอกจากคนไม่ว่างงานแล้ว ยังไปช่วยอัพเกรดมาตรฐานของการทำงานของภาคธุรกิจและภาคสังคมในตำบล ในหมู่บ้าน เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี และใช้โอกาสนี้ไปพัฒนาชนบท

ผมก็นึกถึงโครงการหม่อมคึกฤทธิ์ 40 ปีแล้ววันนี้  เวลาไปต่างจังหวัด คนก็พูดถึง เงินผัน หม่อมคึกฤทธิ์ ก็ยังพูดกันอยู่

 

“ผมอยากจะเน้นเรื่องแรงงาน เราต้องให้ในสิ่งที่เค้าอยู่ได้ เราต้องมีการ Training มีการ Reskilled เพื่อให้ทันเทคโนโลยีและใช้โอกาสนี้ไปพัฒนาชนบท”

 

สำหรับเรื่องงบประมาณนั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่า งบประมาณปี 2564 ที่กำลังพิจารณา 3.3 ล้านล้าน ที่ประชุมสภาพูดกันว่ายังไม่ตอบโจทย์  ก็ต้องเข้าใจว่างบปี 2564  ที่ผ่านสภา ซึ่งใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม ปี2563  ถูกจัดทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ฐานของการดำเนินการก่อนเกิดโควิด ผมเข้าใจความเห็นของฝ่ายค้าน และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ว่ายังไม่ค่อยตอบโจทย์ เราก็ต้องเข้าใจว่าโจทย์ที่เราจัดทำๆ ทำก่อนเกิดโควิด ทางรัฐบาลก็พยายามจะปรับปรุงอยู่แล้ว แต่อาจจะปรับปรุงไม่ได้มาก


แต่สำหรับงบประมาณ ปี2565 นี้ ผมบอกว่าต้องเต็มๆเลย ต้องตอบโจทย์และต้องยิงให้ตรงประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจเลย และความแรง ความแรงพอไม่พอ  มอนิเตอร์เลย 4 แสนล้าน 5 แสนล้าน ว่าจะพอไม่พอ  ถ้าไม่พอจะทำยังไงกับงบปี 2565  เราอาจจะต้องยอมพิจารณาเรื่องวินัยการเงินการคลังควบคู่กันไป  

 

สมมุติ ตอนนี้เรากู้เงินมาเยอะ เดิมหนี้ต่อ GDP ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ขึ้นมา 56 -57% แล้ว เพราะ GDP มันลดด้วย  ถ้ามันจำเป็นจริงๆ ปีสองปีนี้  เราลดหย่อนตัวนี้ได้ไหม ถ้าจำเป็นเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามา หรือจัดงบดุลงบประมาณ  อาจจะต้องยอมขาดดุลมากขึ้น  ซึ่งเราก็ต้องดูความจำเป็นแค่ไหน  อันนี้คือความแรง  แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้  แต่ถ้าจำเป็นต้องคำนึงถึงที่มาของเงินและเสถียรภาพด้วย  หรือว่าเราจะต้องเปลี่ยนแผน อะไรที่เป็นงานโครงสร้างพื้นฐานเยอะๆ  รัฐบาลเก็บเงินให้เอกชนลงทุนแทน  และอาจจะต้องมานั่งคิดเรื่องสัดส่วน เรื่องของการมีส่วนร่วมของเอกชน ต่อภาระการลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจภาพรวมยังเดินได้ไม่เสียงาน และรัฐบาลก็มีเงิน แทนที่จะไปกู้หรือปล่อยเพดานมากขึ้น  รัฐบาลก็ยังมีเงินมาทำส่วนนี้


 

นายสุวัจน์ ย้ำว่าตัวงบประมาณปี 2565 นี้สำคัญ เรื่องของภาษีก็สำคัญมาก  เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ ซึ่งเรื่องโครงสร้างภาษีที่ใช้นี้มันใช้บนสถานการณ์เก่า 20-30 ปีมาแล้ว ภาษีสรรพสามิต  ภาษีศุลกากรต่างๆ  ที่เก็บเข้าเก็บออก การนำเข้า ส่งออก หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล  20% จะไปเก็บกับใคร หรือ Vat 7% 

 

 “ผมคิดว่าควรจะมีการดีไซน์ โครงสร้างพื้นฐานภาษีให้เหมาะกับสถานการณ์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีนี้ และเราปรับฐานเศรษฐกิจได้เมื่อไร รัฐบาลก็มาปรับใหม่ภายหลัง แต่ว่าช่วงนี้เพื่อให้กิจการมันเปิดได้ เพื่อไม่ให้คนต้องตกงาน ซึ่งการปรับฐานภาษี เรายังไม่ได้ทำกัน เราแค่ยกเว้นเป็นการชั่วคราว สองสามปีนี้ ดีไซน์กันใหม่เลยดีกว่า  และเมื่อหลังโควิด มันอาจจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ เราอาจจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจใหม่ๆ ที่มันจะเกิดขึ้นเพื่อยังรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศเอาไว้ อันนี้สำคัญ”

 

และอีกอย่างคือ การปรับโครงสร้างหนี้วันนี้เราต้องบอกว่า โอเค ดอกเบี้ยยังไม่ต้องจ่าย 6 เดือน  เงินต้นยังไม่ต้องคืน และในที่สุดก็จะไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้  คือ การเอาหนี้มานั่งคุยหนี้กันใหม่ เช่น คุณเป็นหนี้ ผม 100 บาท เดิมที่คุณต้องจ่ายผม เท่านี้ อย่างแบงค์บอกว่า 7 ปี 8 ปี คุ้มทุน แต่ว่าภาวะโควิดเกิดขึ้น มันไม่ใช่ 7 ปี 8 ปี การคุ้มทุนจะกลายเป็น 15 ปี ดอกเบี้ยเคยเก็บ MLR  ลบ 1 อาจจะต้องเป็นลบ 2  ลบ 3  เพื่อให้เค้าอยู่ได้ และเกิดการปรับโครงสร้างหนี้ให้มันอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่จะหยุดหนี้กันเฉยๆ  ถ้าหยุดกันเฉยๆ มันจะอยู่ในช่วงสั้นๆ 6 เดือน ต่อไปควรจะต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้  ผมคิดว่าการปรับฐานภาษี  การปรับโครงสร้างหนี้ การดูงบประมาณปี 2565 เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา

 

และอีกเรื่องที่อยากจะฝากก็คือ  การดูแล เรื่องค่าเงินบาท  เพราะค่าเงินบาทมี Sensitivity สูง ต่อระบบเศรษฐกิจ  ดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทย  ส่งออกมากกว่า 80% ท่องเที่ยวประมาณ 15%  เท่ากับว่าเงินรายได้ของประเทศมาจากการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก  ฉะนั้น ส่งออก และการท่องเที่ยว เงินอ่อน เงินแข็ง มีผลมาก ซึ่งในช่วงนี้เรากำลังอ่อนไหวมาก  เราต้องการที่จะดึงเศรษฐกิจกลับมา ดึงคนมาเที่ยว และส่งออกให้ได้

 

พอต่อไปนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเที่ยวแล้วไม่แพง  ส่งออกด้วย ค่าเงินบาทเหมาะสม ไม่แพง สินค้าเมืองไทยไม่แพง  เสถียรภาพของค่าเงินที่มีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน เราจะมอนิเตอร์อย่างไร ที่ไม่ไปกระทบหรือแทรกแซง แต่จะเป็นมาตรการทางอ้อม ที่สามารถรักษาค่าของเงินบาทอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เมืองไทยเป็น Save Haven ท่องเที่ยว ส่งออก ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

 

และสุดท้ายมองภาพรวมเศรษฐกิจ ระยะยาว เราต้องมองว่าอะไรที่เกิดขึ้น  ฉะนั้น เศรษฐกิจประเทศไทยนี้  ต่อไปมันควรจะยืนอยู่ตรงไหนสักจุด  เรามีภูมิคุ้มกันเวลามีวิกฤตเกิดขึ้น มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่โครงสร้างเศรษฐกิจของเมืองไทยอยู่ได้ การลดการพึ่งพาหรือการสร้างความเข้มแข็งที่เราได้เปรียบ เรามีเรื่องภาคทางเกษตรได้เปรียบ อาหารไทย  อาหารป้อนโลก ถึงแม้ทุกอย่างถดถอยหมด  แต่ส่งออกอาหารเพิ่ม แสดงถึงศักยภาพของประเทศ เรื่องอาหาร เรื่องการเกษตร  ท่องเที่ยวขณะนี้อาจจะดูไม่ดี แต่ถ้าให้การเปิดบินเมื่อไร ท่องเที่ยวจะกลับมา ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ นักท่องเที่ยวทุกคนเห็นเมืองไทยเอาอยู่โควิด  มาเมืองไทยแล้วปลอดภัย  เมื่อก่อนต้องปลอดภัยจากโจร แต่ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนแล้ว แต่ปลอดภัยจากโรคระบาดไหม  มีมาตรการสาธารณสุขไหม มีโรงพยาบาลอยู่ใกล้ๆ ไหม  มีหมอ พยาบาลไหม
จากนี้ไป ผมมองเศรษฐกิจข้างหน้า  เราสร้างจุดแข็ง สร้าง Identity ตัวเราว่าตัวตนของเรา อยู่ที่ไหน อะไรคือความเข้มแข็งของเรา  ภาคเกษตรใช่ความเข้มแข็งหรือเปล่า การท่องเที่ยวใช่ความเข้มแข็งหรือเปล่า อันไหนที่ใช่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ต้องใส่  Infrastructure เข้าไปเลย โครงการลงทุนต่างๆ งบประมาณต่างๆ

 

“ผมไม่ค่อยได้ยินเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เราจะได้ยินแต่โครงสร้างพื้นฐานด้านการลงทุน ด้าน EEC ผมว่าจะต้องคิดแล้ว ต้องเริ่มทำแล้ว” สุวัจน์กล่าว