สทบ.แจงสภาพัฒน์ 24 ก.ค.นี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

19 ก.ค. 2563 | 05:14 น.

ผอ.สทบ. เตรียมแจงสภาพัฒน์ 24 ก.ค.นี้ ดันงบฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน 4 โครงการหลัก หวังยกระดับ สร้างรายได้ชุมชน

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมนเมือง(สทบ.)ได้ยื่นของบประมาณเพื่อ "ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก" 40,000 ล้านบาท ภายใต้กรอบ เงินกู้ 4แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แต่จากการพิจารณารอบแรก สทบ.ได้รับอนุมัติงบประมาณเพียง 16,000 ล้านบาท ภายใต้แผนความต้องการของชุมน  โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้  ซึ่งสทบ.จะมีการหารือกับ สภาพัฒน์ อีกครั้ง เพื่อพิจารณากรอบงบประมาณรวม  40,000 ล้านบาท

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) เปิดเผยว่า สทบ.เตรียมชี้แจง แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก จากกรอบเงินกู้ 4แสนล้านบาท ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)ในวันที่  24 กรกฎาคมนี้  โดยจะเป็นแผนลงทุนด้านต่างๆ ประกอบด้วย  โครงการแรก เตรียมจ้างลูกหลานสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน สำรวจชุมชนของตนเอง 3 คนต่อหมู่บ้าน จ่ายค่าจ้าง 10,000 บาทต่อคน อออกสำรวจให้ครบทั้ง 79,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

สทบ.แจงสภาพัฒน์ 24 ก.ค.นี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้ เพื่อให้บุตรหลานที่เป็นนักศึกษาลงพื้นที่เป็นเวลา 3 เดือน ในการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึก จำนวนประชากรในหมู่บ้าน  คนพิการ คนชราในชุมชน  การประกอบอาชีพ มีมือถือกี่คน รถยนต์กี่คัน อุปกรณ์ทางการเกษตร อย่างละเอียด ในท้องถิ่นมีศักยภาพอย่างไร มีวัด โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งควรได้รับการพัฒนาอย่างไร มีปัญหาอะไร ขาดแคลนอะไร ต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร เพื่อเข้าไปพัฒนาได้อย่างตรงจุด ข้อมูลดังกล่าวจะต้องนำมาอัพเดททุกปี นักศึกษา หรือบุตรหลานยังช่วยแนะนำปิดงบการเงินกองทุนหมู่บ้าน ช่วยจัดทำแผนงานพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต

โครงการสอง คือ แผนพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้าน เมื่อสำรวจข้อมูลแล้ว จะพบว่ากองทุนหมู่บ้านใด มีศักยภาพอย่างไร หัวหน้าชุมชนใดเข้มแข็ง หรือมีปัญหาอย่างไร เช่น ศักยภาพภาพวิถีชีวิต  ศิลปะท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวชุมชน สินค้าชุมชน การผลิตสินค้า เพื่อนำมาพิจารณายกระดับในชุมชนดังกล่าว

สทบ.แจงสภาพัฒน์ 24 ก.ค.นี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

โครงการสาม คือ การพัฒนาสินค้า ทั้งด้านการผลิต การตลาด การสร้างแรงซื้อขายระหว่างสมาชิกกองทุนหมู่บ้านด้วยกันเอง การค้าผ่านตลาดออนไลน์ หลายช่องทาง เมื่อชาวบ้านเริ่มมีรายได้ จากนั้นจะพัฒนาต่อยอดเพิ่มได้อีกหลายอย่าง

 

โครงการที่สี่ คือ การพัฒนาอาชีพเสริม เพราะชาวบ้านเขามีอาชีพหลักอยู่แล้ว  เช่น ปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปี ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ หรือพืชอื่นๆ อาชีพบริการ หรืออาชีพอื่น  จากนั้นช่วงเวลาว่าง ไม่มีรายได้ จึงมาสร้างอาชีพเสริมหลากหลายประเภท จึงหวังจัดสรรเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน 3 แสนบาทต่อกองทุน และจัดสรรให้บางส่วน 5 หมื่นบาท นำสมาชิกหมู่บ้านออกไปดูงาน ในกองทุนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนของตนเอง

“สทบ.ยังเตรียมจัดรูปแบบการขนส่งชุมชน ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ “คิวหมู่บ้าน” นำร่องทดลองในชุมชนคลองนาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เพื่อบริการขนส่งชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านใครมีรถขนส่ง สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกบริการเหมือนกับ Grab แต่บริการครั้งนี้ทำเพื่อบริการในชุมชน โดยเจ้าของรถได้รับค่าธรรมเนียมขนส่ง หากใครต้องการส่งสินค้า หรือรับสินค้า ให้กดเข้าไปใน ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์   “คิวหมู่บ้าน” เจ้าของรถในชุมชนใครสะดวกกดรับบริการ ไปส่งของได้ โดยจะชี้แจงรายละเอียดการให้บริการวันที่ 20 กรกฎาคมนี้”