แก้โจทย์ฝ่ามรสุมส่งออก

17 ก.ค. 2563 | 21:00 น.

สรท.แนะดึง “ก.คมนาคม” แก้ปัญหาโลจิสติกส์ “ข้าว” สัญญาณถดถอย ยุ ก.เกษตรฯ ปั้นพันธุ์ใหม่สู้แย่งตลาดคืนเวียดนาม ขณะ“มันสำปะหลัง” ร้อง “เฉลิมชัย-จุรินทร์” สกัดโรคใบด่างคาดสิ้นปีกำจัดไม่สำเร็จ ถึงล้านไร่แน่

แก้โจทย์ฝ่ามรสุมส่งออก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท.) กล่าวว่า ในเรื่อง “โลจิสติกส์” การขนส่ง เพราะในส่วนของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งในประเทศ และการขนส่งไปต่างประเทศ มีความคิดเห็นว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงด้านการค้า และการขนส่งให้มากขึ้น อาจจะต้องการหารือกับทางกระทรวงคมนาคม ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคม อาทิ การรถไฟฯและการท่าเรือฯ มีประกาศต่างๆ ที่ออกมาจะส่งผลในเรื่องของการเพิ่มต้นทุน และมีสะดุดการขนส่งเพื่อที่จะส่งออก นอกเหนือจาก 2 กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ มีความเป็นได้หรือไม่ที่จะดึงกระทรวงคมนาคมเข้ามาแล้วมองในภาพโลจิสติกส์ เพื่อจะช่วยในการลดต้นทุน ประหยัดเวลาในการขนส่ง ความสะดวก แม้แต่การค้าชายแดน

 

แก้โจทย์ฝ่ามรสุมส่งออก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า “นโยบายตลาดนำการผลิต” ที่ผ่านมาได้มีการพูดแต่ยังไม่มีการทำเลยในอดีตที่ผ่านมา ก็มีความรู้สึกดีใจว่าที่เห็น 2 รัฐมนตรี (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) อยู่พรรค (ประชาธิปัตย์) เดียวกัน ยอมรับว่าก่อนหน้านี้เป็นอะไรที่เหนื่อยมากหากอยู่คนละพรรค เพราะฉะนั้นในการทำงานที่จะประสานกันได้อย่างดี อย่างเรื่องข้าว  มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรในส่วนนี้ ผมคิดว่าข้าวไทยในอนาคตจะเป็นอดีต เพราะว่าสิ่งที่ผ่านมาค่อนข้างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการส่งออกของไทยถดถอยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากต้นทุนแพงกว่าชาวบ้าน คือคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา หรือ อินเดีย

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือภาคการผลิตของคู่แข่ง แข็งแรงขึ้นเรื่อย เวียดนามทำเรื่องของการวิจัยข้าวมานานกว่า 20 ปี ในขณะที่ไทยอาจจะมีการทำบ้าง แต่ไม่มีการนำมาใช้จนกระทั่งตลาดในปัจจุบันถดถอยหายลงไปเรื่อยๆ เพราะว่าราคาข้าวไทยก็สูงกว่าจากต้นทุนการผลิต และค่าเงินบาท และพันธุ์ข้าวที่ไม่หลากหลาย  อยากได้พันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ เช่น ข้าวนุ่ม หลายประเทศในเอเซีย มีความต้องการมาก แต่ว่าเรายังผลิตไม่ได้ สูญเสียตลาดให้กับเวียดนามหมดเลย ยกตัวอย่าง ประเทศผู้นำเข้า ฟิลิปปินส์ จากต้นปี ถึงปัจจุบัน ซื้อไป 9 แสนตัน เป็นข้าวเวียดนามกว่า 8 แสนตัน มีข้าวไทยไม่กี่หมื่นตัน เป็นต้น

แก้โจทย์ฝ่ามรสุมส่งออก

เพราะฉะนั้นเรื่องพันธุ์ข้าวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อยากได้พันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการและได้ผลผลิตต่อไร่สูง อย่างข้าวเวียดนาม ไม่มีข้าวพันธุ์ไหนที่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยข้าวไทย 500-600 กิโลกรัมต่อไร่  หากทำตรงนี้ได้ในอนาคตสามารถที่จะแข่งขันได้

 

“ยกตัวอย่างพันธุ์ข้าว กรมการข้าวกว่าจะรับรองแต่ละพันธุ์ใช้เวลาเกือบ 10 ปี แตกต่างจากประเทศเวียดนาม ใช้บุคลากรเอกชน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ร่วมคณะทำงานกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่หลากหลายและรวดเร็ว แต่ของเราอาจจะช้าตรงนี้ จึงขอฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ทำอย่างไรถึงจะลดกระบวนการระยะเวลาทำให้ได้รวดเร็ว เพราะแต่ละพันธุ์เมื่อพัฒนาขึ้นเป็นเรื่องของการตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี แล้วถ้าไม่เริ่มอาจจะช้าไปเรื่อยๆ

แก้โจทย์ฝ่ามรสุมส่งออก

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า มันสำปะหลังเป็นตัวหนึ่งที่เกษตรกรปลูกจำนวนมาก เป็นพืชที่ค่อนข้างวิเศษก็คือ พืชตัวไหนที่มีปัญหาเกษตรกรจะหันไปปลูกมันสำปะหลัง มันสำปะหลังความจริงไม่ค่อยมีปัญหามากเท่าไร มีปัญหาเรื่องแล้งเท่านั้นเอง เป็นตัวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีหนึ่งแสนกว่าล้านบาท เป็นส่วนของอาหารประมาณ 6 หมื่นล้านบาท  ตอนนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มียุทธศาสตร์ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ได้ไร่ละ 5 ตัน แต่ก็ไม่ถึงเป้า และสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ เกษตรกรเจอภัยแล้ง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยิ่งไปยากใหญ่ ไม่บรรลุเป้า

 

"แต่ว่า 2 ปีนี้กลับมามีเรื่องแล้ง และโรคใบด่างมันสำปะหลัง นับว่าเป็นโอกาสที่ได้เจอกับ 2 รัฐมนตรีว่าการกร่ะทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์พร้อมกันในงาน “Live Town Hall "อาหารไทย อาหารโลก" เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด (16 ก.ค.63) ได้รายงานไป 2 ปีแล้วก็เห็นว่าท่านได้พยายามจะกันทุกอย่างแต่ว่า “ไม่สำเร็จ” เพราะแต่ละจังหวัด ต่างคนต่างแก้ ถ้าไม่มีการแก้เป็นรูปธรรมเกรงว่าจะไปกันใหญ่" 

แก้โจทย์ฝ่ามรสุมส่งออก

 

นายบุญชัย กล่าวว่า ตอนนี้จะจัดการอย่างไร เมื่อ2 ปีที่แล้วแค่พันกว่าไร่ ตอนนี้อยู่ประมาณ กว่า 4 แสนไร่ คาดว่าปลายปีไป ล้านไร่แน่นอน เปรียบเหมือนกับโควิด อาจจะมีแมงหวี่ขาวส่งเสริมเข้าไปอีกจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้ามีศูนย์กลางและหน่วยงานที่รับผิดชอบเช่นเดียวที่ดูแลเหมือนโควิดผมคิดว่าจะแก้ไขได้ง่าย เพราะมีหลายจังหวัดที่ยังระบาดอยู่ จะทำอย่างไรให้จังหวัดที่ระบาดอยู่ไม่ให้แพร่กระจายออกไป และจังหวัดที่ไม่มีโรคระบาดจะไม่ให้โรคใบด่างเข้าไป อยากให้ช่วยตั้งหน่วยงานเฉพาะในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย เสียดายเกษตรกรที่ลงทุนลงแรงปลูกไปแล้วไม่ได้ผลผลิต รายได้แสนกว่าล้านที่เคยเข้าประเทศจะหายไป