รู้จัก "ตะไคร้หอม" พืชที่ถูกขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

17 ก.ค. 2563 | 05:28 น.

"ตะไคร้หอม" หนึ่งใน13 สมุนไพร ที่ รมช.เกษตร "มนัญญา" เตรียมผลักดันให้ปลดล็อคบัญชีจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่ 1

"ตะไคร้หอม" หนึ่งใน 13 สมุนไพร กำลังจะถูกปรับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ว่าได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรรายงานความคืบหน้าการปลดล็อคบัญชีพืชสมุนไพรจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้เป็นชนิดที่ 1 ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกร และชุมชนสามารถนำพืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก มาสกัดเป็นสารสกัดธรรมชาติเพื่อใช้ป้องกันกำจัดแมลง วัชพืช และโรคพืช ตลอดจนศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง และได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรทำการจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ขณะที่กรมวิชาการเกษตรชี้แจงเพิ่มเติมว่า วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จะมีความเป็นอันตราย หรือความเป็นพิษน้อยกว่าชนิดที่ 2 มีขั้นตอนการควบคุมแตกต่างกัน และในกรณีของวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ครอบครองที่จะมีไว้ใช้ จะต้องทำการขึ้นทะเบียน และแจ้งการดำเนินงานกับกรมวิชาการเกษตร

ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ไม่ต้องขึ้นทะเบียน เพียงแต่มาแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารหรือพืชนั้น ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นพิษของสารนั้น ต้องนำสารนั้นไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้เพื่อให้ทราบว่าจะใช้อัตราที่เท่าไหร่ถึงจะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริง นอกจากนั้นจะต้องทำการประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรได้นำสารธรรมชาติ หรือพืชที่อยู่ตามธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืช กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าควรปลดล็อคพืชสมุนไพร 13 ชนิด จากวัตุอันตรายชนิดที่ 2 กลับมาเป็นวัตุอันตรายชนิดที่ 1 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เล็งถอน 13 พืชสมุนไพร ออกจากวัตถุอันตราย

แฉ “พูดไม่หมด” ปม 13 พืชสมุนไพร

ข้อเท็จจริง ขึ้นทะเบียน "13 สมุนไพร" เป็น "วัตถุอันตราย" ชนิดที่ 1

ทำความรู้จัก “ตะไคร้” หลังจ่อถูกขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย

 

เพียงแค่ รมช.เกษตรฯ ตั้งท่าผลักดัน สมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ก็เกิดแรงกระเพื่อมเกิดแรงต้านจากหลากฝ่ายไม่ว่าจะเป็น  สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร,สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย,สภาเกษตรแห่งชาติ และ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ถอด 13 สมุนไพรออกจากวัตถุอันตราย

หนึ่งใน 13 สมุนไพรที่คนไทยรู้จักดีคือพืชในตระกูล “ตะไคร้” เพราะฉะนั้นมาทำความรู้จัก “ตะไคร้หอม” มีคุณสมบัติ และ ประโยชน์อย่าวไรบ้าง ติดตามอ่านจากบรรทัดถัดจากนี้

เมื่อ “ฐานเศรษฐกิจ” คลิกเข้าไปหาข้อมูล “ตะไคร้หอม” ไปที่ www.puechkaset.com ได้อธิบายที่มาที่ไปของ "ตะไคร้หอม" ดังนี้

ตะไคร้หอม จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับตะไคร้บ้าน แต่มีกลิ่นหอมฉุนที่แรงกว่า นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ต้มน้ำดื่ม ทำธูป และใช้ในการป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช

ตะไคร้หอม (Citronella grass) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์ Gramineae พันธุ์ที่นิยมปลูกมากเพื่อการผลิตน้ำมันหอมระเหย มีอยู่ 2 ชนิด คือ พันธุ์ Cymbopogonnardus Lin. มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ตะไคมะขูด ตะไคร้มะขูด (ภาคเหนือ) หรือตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช) ส่วนอีกชนิดคือพันธุ์ Cymbopogonwinterianus Jowitt ปลูกมากบริเวณเกาะชวา มีชื่อพื้นเมืองว่า Mahapengiri ซึ่งต่อมาได้กระจายออกไปหลายแห่ง เช่น เกาะไต้หวัน เกาะไฮติ และเป็นชนิดที่ปลูกมากในประเทศไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้น
ตะไคร้หอมเป็นพืชล้มลุก อายุประมาณได้นาน 6-8 ปี เป็นพืชที่มีกลิ่นหอม เจริญเติบโตด้วยการแตกหน่อ หรือแตกเหง้า มีทรงพุ่มเป็นกอคล้ายตะไคร้บ้าน มีลำต้นยื่นจากเหง้าสั้น รูปทรงกระบอก ผิวเรียบเกลี้ยง ส่วนเหนือดินสูงได้ตั้งแต่ 1-2 เมตร

• ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ ยาว แต่บางกว่าตะไคร้บ้าน ใบเรียวยาว กว้าง 1.5-2.6 เซนติเมตร ยาว 60-115 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักถี่ คมแข็ง มีผิวใบสาก ไม่มีขน บริเวณโคนใบด้านในมีขน ปลายใบยาวมีลักษณะโน้มลง ใบมีสีเขียวแกมเหลือง กาบใบเป็นส่วนหุ้มที่มองเป็นลำต้นเทียม มีสีเขีนวแกมแดงหรือสีม่วง ซึ่งต่างจากตะไคร้บ้านที่มีสีขาวอมเขียว

• ดอก และเมล็ด
ดอกออกในฤดูหนาว ออกเป็นช่อยาวขนาดใหญ่ เป็นแบบแยก แขนงขนาดใหญ่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร แกนก้านช่อยาวโค้งหักไปหักมา ช่อดอกย่อยเป็นแบบกระจับหรือแบบเชิงลด ดอกประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างมี 2 หยัก สีใส รยางค์แข็งยาว (ถ้ามีรยางค์) ไม่มีกาบบน กลับเกล็ดมี 2 กลับ เกสรเพศผู้มี 3 อัน เกสรเพศเมียมี 2 อัน ยอดเกสรปกคลุมด้วยขนยาวนุ่ม ก้านย่อยรูปรี เป็นดอกเพศผู้หรือดอกเป็นหมัน กาบช่อย่อยข้างล่าง มีเส้น 7-9 เส้น  ดอกย่อยจริงมีเกล็ด 1 เกล็ด ยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร มีสีใส ล้อมเกสรเพศผู้ไว้ 3 อัน และมีกลีบเกล็ด 2 กลีบ ผลเป็นแบบผลแห้งติดเมล็ด รูปทรงกระบอกออกกลม และมีขั้วที่ฐาน

น้ำม้นหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหย (volatile oil) เป็นสารอินทรีย์ที่พืชสังเคราะห์ขึ้น มีกลิ่น และรสเฉพาะตัว ถูกสร้างไว้ในเซลล์พิเศษ ผนังเซลล์ ต่อมหรือท่อภายในพืช น้ำมันหอมระเหยเกิดขึ้นจากกระบวนการเมทาบอลิซึมระดับทุติยภูมิ (secondary metabolite) แต่เป็นสารที่ไม่ได้ทำหน้าที่ต่อการเจริญเติบโต เป็นสารที่พบในพืชบางชนิด  สารตั้งต้นในกระบวนการผลิตน้ำมันหอมระเหย เป็นสารที่ได้จากปฏิกิริยาเมแทบอลิซึมระดับปฐมภูมิ (primary metabolite) แตกต่างกันที่มีเอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของการผลิตน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด

พืชที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยได้จะสังเคราะห์ จัดเก็บ และปลดปล่อยกลิ่นน้ำมันหอมระเหยแตกต่างกัน สำหรับตะไคร้หอม เป็นพืชที่สร้างน้ำมันหอมระเหยจากเซลล์ขนขนาดเล็ก (microhairs) ที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่อถาวร abaxial epidermis ของใบ

การสร้างน้ำมันหอมระเหย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. สารประกอบกลุ่มเทอร์พีนอยด์ (terprenoids)
สารประกอบกลุ่มเทอร์พีนอยด์ เป็นสารสารประกอบอินทรีย์ มีโครงสร้างเป็นเส้นตรงหรือวงแหวน ประกอบด้วยไอโซพรีน (isoprene) ตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป เรียกว่า เทอร์พรีนไฮโดรคาร์บอน (terprenehydroocarbon) สารไอโซพรีนที่สำคัญเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเทอร์พีนอยด์ คือ ไอโซพรีนไพโรฟอสเฟต (isoprene pyrophosphate: IPP) และไดเมทธิลอาลลิลไพโรฟอสเฟต (dimetyllalyl pyrophosphate: DMAPP) สารประกอบเทอร์พีนอยด์ที่สังเคราะห์ได้ คือ monoterpenes มีคาร์บอน 10 อะตอม, diterpenes มีคาร์บอน 20 อะตอม, triterpenes มีคาร์บอน 30 อะตอม และ tetraterpenes มีคาร์บอน 40 อะตอม

สารสำคัญของตะไคร้หอมของสารคือ monoterpenes ที่มีคาร์บอน 10 อะตอม ประกอบด้วยสารสำคัญหลัก 3 ชนิด คือ citronellal, geraniol และ citronellol เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการ terpenoidderivertive โดยมีไอโซพรีนไพโรฟอสเฟต และไดเมทธิลอาลลิลไพโรฟอสเฟต เป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์ เมื่อพิจารณรองค์ประกอบโครงสร้างของ citronellal มีแอลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบหลัก (aldehyde volatile oils) ส่วน geraniol และ citronellol มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบหลัก (alchol volatile oils)

2. สารประกอบกลุ่มฟีนิลโพรพานอยด์ (phenylpropanoids)
สารกลุ่มฟีนิลโพรพานอยด์เกิดผ่านกระบวนการ shikimic acid-phenylpropeniod route พบในพืชชั้นสูงหลายชนิด สารตั้งต้นที่สำคัญ ได้แก่ กรดอะมิโน (amino acid) ฟีนิลอะลานิน (phenylalanine) และ ไทโรซิน (tyrosine)

การใช้ประโยชน์จากตะไคร้หอม


การใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์
ตะไคร้หอมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าตะไคร้บ้าน พบในส่วนใบ กาบใบ และลำต้น มีสรรพคุณทางยา ใช้แก้ริดสีดวงในปาก ปากแตกระแหง แผลในปาก ขับลมในกระเพราะ ลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมคุณสมบัติป้องกันตัวเต็มวัยและสามารถฆ่าไข่ของด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculates)ซึ่งเป็นแมงลงในโรงเก็บเข้าทำลายเมล็ดถั่วเขียวที่เก็บ โดยใช้ citronellal ความเข้มข้นร้อยละ 5 ตั้งทิ้งไว้ในดรงเก็บเมล็ดเป็นเวลา 3 ชั่วโมงสามารถออกฤทธิ์ไล่ตัวเต็มวัยและไข่ของด้วงถั่วเขียวได้

 มีการทดลองใช้สารสกัดจากตะไคร้หอมยับยั้งเพลี้ยที่เข้าทำลายต้นยี่หร่าฝรั่งได้โดยใช้ citronellal เข้มข้นร้อยละ 1.0 ฉีดพ่นยี่หร่าฝรั่ง และมีการนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillusflavus และการผลิต aflatoxin พบว่า citronellal ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม สามารถยับยั้งการผลิต aflatoxin โดยใช้ความเข้มข้นร้อยละ 1.0

สรรพคุณตะไคร้หอม
ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
ช่วยในการย่อยอาหาร และเจริญอาหาร
ช่วยป้องกัน และรักษาโรคในช่องปาก ยังยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสบางชนิด

ข้อควรระวัง
น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์บีบรัดมดลูก สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน อาจทำให้แท้งได้

ที่มา; www.puechkaset.com

ขณะที่ “วิกิพีเดีย” ได้ระบุว่า ตะไคร้หอม  เป็นพืชวงศ์หญ้าอายุหลายปี มีต้นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งใช้ไล่ยุงได้ ไม่นิยมรับประทานมีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาทีโดยสารสกัดด้วยเอทานอล จากลำต้นสามารถยับยั้งการเจริญของคะน้าได้ และ นอกจากนี้ ผู้ที่นำเข้าตะไคร้หอมเข้ามาในประเทศไทย คือคุณหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ โดยนำเข้ามาจาก อินเดีย  และนำไปปลูกที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นที่แรก ปัจจุบันมีการนำไปปลูกทั่วประเทศ