คำถามกระตุกคิดธุรกิจครอบครัว(1) 

19 ก.ค. 2563 | 02:10 น.

บิสิเนส  แบ็กสเตจ  รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

การเติบโตในธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ซึ่งหนึ่งในข้อดีที่สำคัญคือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการส่งผ่านการสร้างความมั่งคั่งของครอบครัวไปสู่อีกหลายชั่วอายุคน แต่หากเจ้าของธุรกิจเองไม่เข้าใจและไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง พวกเขาจะต้องประสบกับความเสื่อมถอยลงของทั้งทรัพย์สินและความก้าวหน้าของธุรกิจอย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องถามว่าทำอย่างไรครอบครัวจึงจะมีความมั่งคั่ง และธุรกิจยั่งยืนได้อย่างไร Jacoline Loewen ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการตอบคำถามง่าย ๆ 4 ข้อที่ดึงมาจากโมเดลการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่สอนใน Harvard Business School ดังนี้

 

คำถามที่ 1: ครอบครัวมีวิสัยทัศน์ต่ออนาคตอย่างไร หากสมาชิกครอบครัวใช้เงินเพื่อไลฟ์สไตล์ของตน แทนนำไปลงทุนเพื่อการเติบโตของธุรกิจ นั่นจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นง Rob Sobey ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท Sobeys Inc. ซึ่งเป็น Supermarket Chain ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในแคนาดา ที่มีเครือข่ายกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ ได้ให้ความเห็นว่าหากคุณดูแลธุรกิจ แล้วธุรกิจจะดูแลครอบครัวคุณ

คำถามกระตุกคิดธุรกิจครอบครัว(1) 

แต่หากคุณไม่ได้ดูแลธุรกิจของคุณ แน่นอนธุรกิจก็จะไม่ดูแลครอบครัวของคุณ ผู้ก่อตั้งหลายคนคิดไปเองว่าคนรุ่นต่อไปจะยังคงรักษาคุณธรรมและจริยธรรมในการทำงานในแบบที่ตนเคยทำต่อไปได้ ในขณะที่ความเป็นจริงมักพบว่าสมาชิกครอบครัวรุ่นหลังสูญเสียวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและมุ่งเน้นสินค้าที่เป็นวัตถุและความหรูหราหรือลำดับความสำคัญที่แตกต่างกับรุ่นก่อตั้ง

คำถามที่ 2: ครอบครัวทำงานร่วมกันอย่างไร จำนวนธุรกิจครอบครัวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของบริษัททั่วโลก และแม้ธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก แต่ก็มีธุรกิจครอบครัวที่สามารถเติบโตเป็นบริษัทมหาชนที่มีความซับซ้อนด้วย โดยหลักการที่จะสร้างความมั่งคั่งให้ยืนยาวนั้นคือการสร้างความเป็นสถาบันให้กับบริษัท ซึ่งในเรื่องนี้ Rob Sobey กล่าวว่า “โครงสร้างการกำกับดูแลของธุรกิจครอบครัวในยุโรปและเอเชียจะบังคับให้ต้องหาที่ปรึกษาอิสระเข้ามาในบริษัท”

 

ขณะที่บริษัท Sobeys Inc. ของเขามีสมาชิกคณะกรรมการอิสระมากกว่าจำนวนสมาชิกในครอบครัว และที่ปรึกษาจากภายนอกบางคนมาจากธุรกิจครอบครัวและเข้าใจจุดแข็งของธุรกิจครอบครัวดี ซึ่งหนึ่งในจุดแข็งนั้นคือการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ระยะยาวที่ผลักดันให้มองไกลมากกว่าผลประกอบการรายไตรมาส และด้วยมุมมองทางธุรกิจนี้เมื่อทำการลงทุนระยะยาวจะทำให้มีการตัดสินใจทางธุรกิจมีพลวัต 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,593 วันที่ 19 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563