ผู้เลี้ยงดีเดย์ขายเนื้อหมูถูกโลละ100 ช่วยลดค่าครองชีพทั่วประเทศ

16 ก.ค. 2563 | 11:47 น.

ผู้เลี้ยงหมูย้ำดูแลราคาและผู้บริโภคเต็มที่ เตรียมขายหมูราคาถูกช่วยลดค่าครองชีพโลละ 100 บาท ดีเดย์ 21 ก.ค.นำร่องที่ชลบุรี วอนทุกฝ่ายเห็นใจหลังขาดทุนสะสมมา 3 ปี

จากที่มีเสียงบ่นจากผู้บริโภคเนื้อหมูชำแหละหน้าเขียงในตลาดสดขณะนี้ราคาสูงถึง 155-160 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) กระทบค่าครองชีพผู้บริโภคที่มีภาระเพิ่มในช่วงเปิดเทอม สวนทางรายได้ลดลงในช่วงโควิด-19 นั้น

 

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาสุกรหน้าฟาร์มอยู่ที่ 78-79 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นระดับราคาที่เกษตรกรทั่วประเทศยืนหยัดให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ดูแลราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทบาทต่อกก. ทำให้ราคาขายหมูหน้าเขียงไม่เกิน 160 บาทต่อ กก. เป็นการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยราคาเป็นไปตามกลไกตลาด จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเหมือนกับทุกประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามราคาหมูไทยยังคงถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญเกษตรกรวอนขอความเห็นใจ เพราะมีอาชีพเดียวไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ ขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานโปรตีนอื่น ๆ ทดแทนได้ ทั้งไก่ ไข่ ปลา รวมถึงอาหารธรรมชาติที่ออกมามากในช่วงนี้

ผู้เลี้ยงดีเดย์ขายเนื้อหมูถูกโลละ100  ช่วยลดค่าครองชีพทั่วประเทศ

สำหรับการปรับขึ้นราคาหมูในช่วงนี้เพิ่มขึ้นในช่วงสั้น ๆ หลังจากหลายกิจการเริ่มกลับมาดำเนินการ ประกอบกับโรงเรียนเปิดภาคเรียน แต่เกษตรกรยังคงราคา 78-79 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เกษตรกรพออยู่ได้ โดยเพิ่งจะขายได้ราคานี้ หลังจากแบกรับภาระขาดทุนสะสมมาถึง 3 ปี จากภาวะหมูล้นตลาดและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น

 

“เกษตรกรยืนราคานี้ไว้ไม่กระทบกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคจนเกินไป ยืนยันว่าปริมาณหมูมีเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล การปรับราคานี้สะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริง นับว่าเป็นราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ สมาคมฯได้ผนึกกำลังกับสมาชิกเตรียมจัดกิจกรรมจำหน่ายหมูสดลดค่าครองชีพประชาชนทั่วไทยกิโลกรัมละ 100 บาท (เนื้อแดง)ส่งตรงจากฟาร์มถึงมือผู้บริโภคไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยยอมขาดทุนกิโลฯละ 50-60 บาทนำร่องที่จังหวัดชลบุรีก่อนเป็นที่แรก ในวันที่ 21 กรกฎาคม และขายที่กรมการค้าภายในและพร้อมกันทุกภูมิภาค วันที่ 7 สิงหาคม โดยจะขายไปเรื่อย ๆ หากประชาชนเรียกร้อง" นายสุรชัยกล่าว

 

 

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความวิตกกังวลเรื่องโรค ASF ในสุกร ที่ระบาดในหลายประเทศ เกษตรกรทุกคนต่างเข้าเลี้ยงสุกรอย่างระมัดระวัง พบว่าสุกรในระบบของไทยหายไปกว่า 20% จากเดิมในปี 2562 ไทยที่มีสุกรในระบบประมาณ 20 ล้านตัว ที่สำคัญเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเฝ้าระวังและป้องกัน ASF อย่างเข้มงวด ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงตัวละ 100 บาท แต่ทุกคนยินดีดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้มาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และเกษตรกรผู้เพาะปลูกในห่วงโซ่การผลิต ทั้งยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ต้องได้รับความเดือดร้อนเหมือนกับประเทศอื่นในภูมิภาค