ลุ้นพายุเข้า 2 ลูก เติมน้ำเขื่อน

16 ก.ค. 2563 | 10:20 น.

กอนช.ลุ้นพายุเข้า 1-2ลูก ช่วง ส.ค.ต้น ก.ย.หวังเติมน้ำ 35 เขื่อนใหญ่ หลังปริมาณน้ำในอ่างฯ ภาคเหนือ กลาง อีสาน ยังน่าห่วง

ลุ้นพายุเข้า 2 ลูก เติมน้ำเขื่อน  

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีคำสั่งให้ 14 หน่วยงานภายใต้ กอนช.อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน เป็นต้น ส่งผู้แทนหน่วยงานมาปฏิบัติการประจำที่ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อคาดการณ์ พายุ น้ำฝน น้ำท่า และน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง และจัดทำแผนที่น้ำท่วม การประชาสัมพันธ์ การให้ความช่วยเหลือ และการติดตามผลการดำเนินการตามข้อสั่งการของผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาตินั้น

 

จากการหารือติดตามประเมินแนวโน้มฝนตกหนัก 24 ชั่วโมงล่วงหน้า พบว่า ฝนในภาพรวมของประเทศระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออก ซึ่งปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงสูงสุดในพื้นที่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี 67 มิลเมตร (มม.) ขณะที่คาดการณ์ฝนล่วงหน้า จ.จันทบุรี ยังคงมีฝนตกหนักเฉลี่ย 50-100 มม. ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งกอนช.ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในการเฝ้าระวังผลกระทบ

 

ลุ้นพายุเข้า 2 ลูก เติมน้ำเขื่อน

สำหรับสถานการณ์ในแหล่งน้ำต่าง ๆ พบว่า ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศขณะนี้ 33,995 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41%เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 10,200 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ยังน่าเป็นห่วงและต้องติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนกลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง คือ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 7,454 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4% ของความจุน้ำใช้การ

 

แม้ว่าในปีนี้ถือว่ามีจัดสรรน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์มากกว่าแผนประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร จากสถิติที่ผ่านมามีการระบายน้ำเกินแผนเฉลี่ย 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกรถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ที่ยังต้องควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และรณรงค์ให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกเมื่อมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น และใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลัก

 

รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางที่ยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยต่อเนื่อง อาทิ ทับเสลา กระเสียว และอุบลรัตน์ เป็นต้น ขณะที่ภาคตะวันตกแนวโน้มปริมาณฝนที่ไหลลงอ่างฯ ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับแผนลดการระบายน้ำจากเขื่อนรัชประภา โดยประชุมหารือกลุ่มผู้ใช้น้ำรับทราบแนวทางการลดการระบายน้ำลงตั้งแต่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเริ่มเก็บกักน้ำในอ่างฯ ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าและต้นฤดูฝนถัดไป

ลุ้นพายุเข้า 2 ลูก เติมน้ำเขื่อน

“ปริมาณฝนขณะนี้ถือว่ายังส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ ไม่มากนัก เฉลี่ยตั้งแต่ต้นฤดูฝนมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ขนาดใหญ่ 35 แห่งพบว่ามีปริมาณไหลเข้าอ่างฯเพียง 2,409 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 3,899 ล้าน ลบ.ม. และมีการระบายออกมากกว่าน้ำไหลเข้า ซึ่งส่งผลกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่าง ๆ ใน ภาคเหนือ อีสาน กลาง ที่มีน้ำต้นทุนที่น้อยอยู่แล้ว ฝนที่ได้ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก กอนช.จะยังติดตามพายุที่คาดว่าจะมีเข้ามา 1-2 ลูกที่หวังว่าจะเข้ามาเติมน้ำในเขื่อนให้มากขึ้น หากปริมาณฝนยังน้อยต่อเนื่องแบบนี้ ฤดูแล้งถัดไปน่าจะมีปัญหาและอาจจะต้องพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในการจัดสรรน้ำในแต่ละกิจกรรมด้วย”นายสำเริง กล่าวกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ