กรมชลประทาน เล็งนำเทคโนโลยี มาใช้กักเก็บน้ำ

16 ก.ค. 2563 | 07:06 น.

หลังกรมอุตุฯ คาดการณ์ ก.ค.-ก.ย. ฝนมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อย ส่วนลุ่มเจ้าพระยาขอความร่วมมือรอฝนก่อนเพาะปลูกข้าว 5.3 ล้านไร่

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ช่วงเดือน ก.ค.-กลางเดือน ก.ย.นี้ จะมีฝนตกมากขึ้นทั่วประเทศ กรมชลประทานจึงเตรียมหารือหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสำรวจทางน้ำ เพื่อร่วมกันกำหนดแผนเร่งด่วนในการเก็บกักน้ำและให้ทุกเขื่อนเตรียมทุกวิธี                   เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ได้มากสุดและให้สำรวจ ประเมินปริมาณน้ำและอุปสรรคที่ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าเขื่อน เพราะช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังมีน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศ ปริมาณ 39.47 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่มีการระบายออกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จำเป็น 78.40 ล้าน ลบ.ม./วัน

ส่วนผลการเพาะปลูกพืชเกษตรตามแผนการผลิตทั่วประเทศ 17.33 ล้านไร่ ณ วันที่ 8 ก.ค. 2563 มีการเพาะปลูกได้ 7.07 ล้านไร่ หรือประมาณ 40% ของแผนฯ แบ่งเป็นแผนการปลูกข้าว 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกได้ 6.972 ล้านไร่ หรือ 41.53% ของแผนฯ พืชไร่และพืชผัก แผนการเพาะปลูก 0.54 ล้านไร่  เพาะปลูกได้ 0.098 ล้านไร่ หรือ 18.3% ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีกจำนวน 5.47 ล้านไร่ ขณะนี้ยังมีฝนทิ้งช่วง กรมชลประทานจึงได้วางแผนจัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำในช่วงที่มีปริมาณฝนตกลดลง เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกไปแล้วในลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 2.63 ล้านไร่ จากแผนการเพาะปลูก 8.01 ล้านไร่ โดยเพิ่มการระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย จากอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที เป็น 20 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน จะยังคงการรับน้ำไว้ที่ 15 ลบ.ม./วินาที

“กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อน คาดว่าตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.เป็นต้นไปก็จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีเกือบ 50% ของแผนการปลูกข้าว เหลือประมาณ 5.38 ล้านไร่ ขอให้รอน้ำฝนก่อน เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหาย หากมีการปลูกข้าว”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมทางหลวง ลุยแก้“น้ำป่าทะลัก”เชียงใหม่ ทำ“ทางขาด”

 

นายทวีศักดิ์  กล่าวว่า ผลการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2563 ทั้งประเทศ ระหว่าง 1 พ.ค.-12 ก.ค.ปริมาตรน้ำในเขื่อนทั่วประเทศทั้งหมด 1,389 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 76,641 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 52,576 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำทั้งหมด 32,042 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 8,329 ล้าน ลบ.ม. หรือ 16% ของความจุเขื่อน แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้  70,926 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 47,384 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำทั้งหมด 30,322 ล้า ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 7,045 ล้าน ลบ.ม. หรือ 15% ของความจุเขื่อน

น้ำในเขื่อนขนาดกลางที่มีความจุตั้งแต่ 2 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 341 แห่ง ณ 1 พ.ค.มีปริมาตรน้ 5,039 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 4,661 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค.ปริมาตรน้ำทั้งหมด 1,521 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 1,161 ล้าน ลบ.ม. หรือ 25% ของความจุเขื่อน  น้ำในเขื่อนขนาดเล็กจำนวน 1,031แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 676 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 531 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำ 199 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 123 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23% ของความจุเขื่อน

กรมชลประทานได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ระหว่างปลายเดือน มิ.ย.-กลางเดือน ก.ค.มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 33 อำเภอ 230 หมู่บ้านใน 14 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก เลย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี นครนายก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง

 

การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อทุเลาสถานการณ์ คือ นำรถบรรทุกจำนวน 26 คัน รวม 101 เที่ยว ได้ปริมาณน้ำ 754,000 ลิตร ดำเนินการบรรทุกน้ำสะสมได้ 131 คัน รวม 8,002 เที่ยว คิดเป็นปริมาณน้ำทั้งหมด 53.2 ล้านลิตร ดำเนินการสูบน้ำจำนวน 69 เครื่อง สูบน้ำได้ 1.26 ล้าน ลบ.ม. และสามารถสูบน้ำได้สะสมปริมาณ 1,603 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำเพื่อช่วยภัยแล้ง เพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร 376.726 ล้าน ลบ.ม. สูบเพื่อผันน้ำ ช่วยในพื้นที่แห้งแล้งปริมาณ 1,226.37 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมเครื่องจักรอื่นๆ เพื่อช่วยรับมือแล้งและฝนใหม่ที่จะมา จำนวน 145 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย รถแบ็คโฮ, รถบรรทุกเทท้าย, รถขุดตีนตะขาบ, รถตักหน้าขุดหลัง และเครื่องผลักดันน้ำ ยังมีการซ่อมแซม สร้างทำนบ ฝายจำนวน 7 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 37 แห่ง

 

กรมชลประทาน เล็งนำเทคโนโลยี มาใช้กักเก็บน้ำ