ธอส. ยัน ไม่ยึดบ้านลูกค้าได้รับผลกระทบโควิด-19

16 ก.ค. 2563 | 06:57 น.

ธอส. สั่งตรวจสอบสถานภาพลูกค้าหลังหมดมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 ยัน ไม่มีนโยบายยึดบ้านลูกค้าแน่

             นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า นโยบายในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ธอส.จะให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพลูกหนี้ ในกลุ่มที่เข้ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ที่มีประมาณ 4.9 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 4.8 แสนล้านบาท โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาขาลงพื้นที่ดูแลลูกค้าเป็นรายบุคคล ถึงความสามารถในผ่อนชำระ หลังครบกำหนดมาตรการพักหนี้ในเดือน ต.ค. เพื่อประเมินหนี้เสีย(NPL) ในกลุ่มที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ และกลุ่มที่จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

            ธอส.ไม่มีนโยบายยึดบ้านลูกค้าที่ผ่อนชำระไม่ไหว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ 4.8 แสนล้านบาท ขอให้ติดตามข่าวสารผ่านแอพลิเคชั่น GHB All ถ้ารู้ว่าเริ่มผ่อนไม่ไหว ให้เข้ามาเจรจากับธนาคาร ซึ่งยอมรับว่า จากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบกับกลุ่มลูกค้า 40% ของพอร์ตสินเชื่อ ที่เป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย บ้างแล้วนายฉัตรชัย กล่าว

 

 

            นอกจากนี้ เตรียมหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ที่จะครบระยะกำหนดตามเกณฑ์ในช่วง ต.ค. โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวจาก ธปท.ระบุว่า จะไม่มีการขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ออกไปแล้ว ก็จะขอความชัดเจนในเรื่องนี้ แม้ว่า ธอส. จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ให้สามารถขยายเวลาพักชำระหนี้ ได้ถึงสิ้นปีนี้ 2563 แล้วก็ตาม โดยยืนยันว่าสภาพคล่องธนาคารสามารถรองรับมาตรการได้จนถึง เม.ย.2564 เนื่องจากเป็นรายได้ทางบัญชี ไม่มีรายรับเข้ามาจริง

             นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ธอส.จะเร่งให้บริการในด้านเงินฝาก ผ่านแอพลิเคชั่นทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งการขอหนังสือรับรอง การขอเปิดบัญชี ส่วนธุรกรรมเงินกู้ ก็จะให้ยื่นคำร้องขอกู้ ส่งข้อมูล รับแจ้งอนุมัติเงินกู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับรับสถานการณ์โควิด โดยคาดว่าภายในสิ้นปี จะมียอดลูกค้าที่ใช้แอพลิเคชั่นของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนราย เป็น 1 ล้านราย

            สำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 100,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 50% ของเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 210,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อใหม่ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางรวม 40,504 ราย ส่งผลให้ไตรมาส 2 ของปีนี้ ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.89%

                  ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.62% เงินฝากที่ 1.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.76% ด้าน  NPL อยู่ที่ 56,827 ล้านบาท คิดเป็น 4.52% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ที่ 4.09% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,831 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 14.87% เนื่องจากธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อความมั่นคงและเตรียมความพร้อมกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอนาคต และรองรับการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการของธนาคาร

            อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบโควิดคณะกรรมการธนาคารเห็นชอบให้ปรับลดเป้าหมายดำเนินงานของธนาคารใหม่ โดยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท จากเดิม 2.1 แสนล้านบาท กำไรเหลือ 8.2 พันล้านบาท จาก 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารจะพยายามปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ได้ตามเป้าหมายเดิม โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มได้ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าไม่มีการระบาดโควิดรอบ 2 ก็เชื่อว่าจะทำได้ รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นสินเชื่อบ้านรอบใหม่ของรัฐบาลที่จะออกมาครึ่งปีหลัง

               สำหรับการตั้งสำรองนั้น แบ่งเป็นการตั้งสำรองตามเกณฑ์ปกติ ตามเกณฑ์ ธปท. 500 ล้านบาท การตั้งสำรองเพื่อความมั่นคง และสำรองตาม 8 มาตรการพักหนี้ มีภาระตั้งสำรองเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 15.35% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

                ส่วนโครงการ ธอส.ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ ที่ช่วยทั้งการพักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย และลดดอกเบี้ย ณ วันที่ 16 ก.ค. เวลา 9.00 น. มีลูกค้าแจ้งร่วมโครงการแล้ว 490,725 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 488,024 ล้านบาท