นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวบรรยายพิเศษในงาน “อาหารไทย อาหารโลก” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ในหัวข้อ “เกษตรไทย มาตรฐานโลก”ว่า วันนี้เป็นอีกครั้งที่จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย ที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะได้ทำงานร่วมกัน โดยต้องยอมรับว่า วันนี้ไม่ว่าอุตสาหกรรม หรือ ธุรกิจที่พัฒนาขึ้นมา แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศเกษตรกรกรรม จากจำนวนพื้นที่ 138 ล้านไร่ ถือว่าเป็น 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของประเทศคือพื้นที่ทำการเกษตร ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าประเทศไทยคือประเทศเกษตรกรรม และ จีดีพีของประเทศ มาจากสินค้าภาคการเกษตร อยู่ที่เกือบ 20% เพราะฉะนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่อยู่ในแวดวงเกษตรกรทั้งหมด จำนวนกว่า 30 ล้านคน หมายถึงว่าวันนี้หากทำให้พี่น้องเกษตรกรก้าวผ่านความยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ จึงหมายถึงความเข้มแข็งของประเทศ หมายถึงจีดีพีของประเทศในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้น
โดยสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ทำในวันนี้ คือความตั้งใจยกระดับพี่น้องเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นหมายถึงการเติมเงินในกระเป๋าให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของราชการ
“เราทำอาชีพเกษตรกรรมมาคู่กับประเทศไทยมาแล้วหลายร้อยล้านปี เท่าที่ประเทศไทยมี หรือก่อนมีประเทศไทย แต่สิ่งที่ปรากฏเห็น นั่นคือพี่น้องเกษตรกรของเรายังยากจน ประเทศชาติ รัฐบาล ยังต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปดูแลเกื้อกูลพี่น้องเกษตรกร ผมให้มองย้อนไปว่า ถ้าพี่น้องเกษตรกรของเราสามารถที่จะยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง สามารถมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น งบประมาณที่จะนำไปดูแลพี่น้องเกษตรกรตรงนี้ก็จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญ เดินไปข้างหน้าได้มากกว่านี้อีกมากมาย เม็ดเงินก็จะเข้าประเทศ” นายเฉลิมชัย กล่าว
ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ เน้นก็คือ การที่จะรักษาคุณภาพ เพิ่มผลผลิต ใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” มาเป็นแนวทางในการที่จะให้พี่น้องเกษตรกรดำเนินวิถีชีวิตของเขา ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ มีสิ่งหนึ่งที่ได้ประกาศเป็นนโยบายก็คือ การปฏิรูปภาคการเกษตร หมายถึงว่าต้องให้พี่น้องเกษตรกรก้าวผ่านวิถีชีวิตเดิม ๆ ของเขาให้ได้ หมายถึงว่าสิ่งที่เขาเคยทำด้วยความเคยชิน ที่ผ่านมาจะต้องเข้าไปปรับเปลี่ยน ไปเป็นพี่เลี้ยงให้ เพื่อให้เขาก้าวไปสู่เกษตรกรทันสมัยให้ได้ ในวันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่ประเทศไทยต้องต่อสู้กับประเทศที่ประกอบอาชีพเกษตรเหมือนกัน ก็คือต้นทุนการผลิต และผลผลิตต่อหน่วย
“กรณีที่เราต้องเสียแชมป์เรื่องการส่งข้าวไป เพราะว่า 1. ต้นทุนการผลิตของเราสูงกว่า 2. ช่วงที่ผ่านมา เราขาดการนำงานวิจัย นวัตกรรมไปพัฒนาพันธุ์ข้าว ไปพัฒนาสิ่งที่เราควรทำ เรื่องนี้เป็นโจทย์ข้อหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี จะต้องทวงแชมป์กลับคืนมาให้ได้ งานวิจัยที่มีความจำเป็น จะต้องถูกนำมาใช้ มีการไปต่อยอดถึงการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิต ลดต้นทุนให้ได้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เกษตร-พาณิชย์"ผนึกกำลังสร้างไทยศูนย์กลางอาหารโลก
อาหารไทย วิ่งสู้ฟัด ดันติดท็อป 10 โลก
"อาหารไทยเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ...โอกาสธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในซัพพลายเชน"
"ตลาดนำการผลิต" ผ่าตัดใหญ่ภาคเกษตรไทย ฝันไกล-ไปถึง?
ดังนั้น การเกษตรในวันนี้จึงต้องหลุดพ้นจากวิถีเดิม ๆ ของเกษตรกรที่มีมาเป็นร้อย ๆ ปี แต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเป็นเรื่องง่าย ก็คงมีการปรับเปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว แต่การปรับเปลี่ยนตอนนี้ไม่ใช่ว่าภาคราชการสามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่จะต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ผู้ประกอบการจะต้องมาช่วยเป็นหลักในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกร จากการผลิตสินค้าที่ทำตามฤดูกาล เป็นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด ส่วนราชการมีหน้าที่ลดต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกรให้ได้ นำงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี ไปช่วยพี่น้องเกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพสินค้า
“1 ในนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือนโยบายเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากวันนี้ในสภาพความเป็นจริงการจะก้าวสู่เกษตรอินทรีย์ได้ จะต้องผ่านเกษตรปลอดภัย ดังนั้นการจะทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของโลก ณ วันนี้ได้ เพราะต้องใช้เวลา และต้องเตรียมการ แต่วันนี้สำหรับการบริโภคแล้ว ถือว่าเกษตรปลอดภัยก็มีความเพียงพอ เพราะกว่าจะมาถึงเกษตรปลอดภัยได้ ต้องมีกระบวนการผลิต กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการการันตีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาพร้อมกับผลผลิต สิ่งเหล่านี้ถือว่าจะเป็นสิ่งที่พูดกันว่า New Normal หรือวิถีปกติใหม่ โดยจะต้องทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความรู้สึกตรงนี้ให้ได้ ในสภาวะโควิด-19 ตอนนี้ทั่วโลกประสบเหมือนกัน เป็นวิกฤติที่ไม่เลือกเขาเลือกเรา เป็นเหมือนกันหมด แต่ความได้เปรียบทางภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้วันนี้ทั้งภาคการเกษตร และการแปรรูป สามารถรักษาระดับการส่งออกสินค้าและมูลค่าไว้ได้” รมว.เกษตรฯ กล่าว
ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าเกษตรต่อเนื่องอาหาร 1.25 ล้านล้านบาท และมีการบริโภคภายในคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท เป็นสิ่งที่เราทำมาในวิถีเดิม วันนี้ในวิถีใหม่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าถ้าจะส่งออกเพิ่มการบริโภคภายในก็ต้องเพิ่มด้วย หากเกษตรกรไม่ปรับตัวผลก็จะไม่เกิด ดังนั้นต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการที่เป็นพี่เลี้ยง และเกษตรกรต้องเข้ามาอยู่ในเงื่อนไขที่เราจะดำเนินการ รวมถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะหาตลาดให้กับพี่นอ้งเกษตรกรด้วย เพราะลำพังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯจะช่วยหาตลาดคงไม่เพียงพอ
“ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ผมเชื่อมั่นว่าอนาคตของพี่น้องเกษตรกรของเราจะเห็นแสงรำไรในการที่จะก้าวผ่านความยากจน มีความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้น หมายถึงถ้าประชาชนในประเทศนั้น ๆ ส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งมีชีวิตที่ดีขึ้น นั่นหมายถึงประเทศชาติเข้มแข็ง ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น และมีการสานต่อให้สำเร็จ จากนี้หวังจะมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จับมือกับกระทรวงเกษตรฯมีเป้าหมายให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ประชาชนได้ใช้สินค้าที่ดี มีความปลอดภัย ซึ่งหากจับมือไปด้วยกัน และทำต่อเนื่อง เป้าหมายความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกล ดังนั้นต้องจับมือเดินไปด้วยกันไปสู่ก้าวแห่งชัยชนะ และจุดมุ่งหมายที่เราตั้งใจไว้พร้อม ๆ กัน”
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @thansettakij