“ดีป้า” เร่งสร้างกำลังคนดิจิทัล ตอบโจทย์อุตฯ

14 ก.ค. 2563 | 08:45 น.

“ดีป้า” จับมือสถาบันการศึกษา – สถานประกอบการ  เนรมิตประสบการณ์การทำงานจริงแก่นักศึกษา หวังสร้างกำลังคนดิจิทัล ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างตรงจุด

ปัจจุบัน การเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจจะสามารถหาความรู้ พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในสาย “เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

“ดีป้า” เร่งสร้างกำลังคนดิจิทัล ตอบโจทย์อุตฯ

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ” มอบหมายให้ ดีป้า เร่งสานต่อภารกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล ผ่านหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเฉพาะทางของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การเอกชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ซึ่ง ดีป้า พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวผ่าน มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Scholarship Fund) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนดิจิทัลอย่างตรงจุด รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในสาขาที่ประเทศกำลังขาดแคลน ประกอบด้วย โปรแกรมเมอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เมคคาทรอนิกส์ การวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยีป้องกันด้านความปลอดภัย

“มาตรการดังกล่าวจะเปลี่ยน การศึกษาในห้องเรียน สู่ การเรียนรู้พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริงจากการทำงาน โดย ดีป้า จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างสรรค์ระบบการศึกษาใหม่ พร้อมรองรับความเสี่ยง และร่วมเป็นครูในการสอนน้อง ๆ นักศึกษาควบคู่กับมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็จะต้องปรับหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชนอย่างตรงจุด” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

และหนึ่งในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการดังกล่าวคือ โครงการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ดีป้า” ปรับแผนพัฒนาคนดิจิทัล สู้ภัย ศก. หลังพ้นวิกฤติโควิด-19

“ดีป้า”สร้างกำลังคนพันธุ์ดิจิทัล หวังรองรับ EEC และ Thailand 4.0

“ดีป้า” จับมือสถาบันการศึกษา อัพสกิลคนพันธุ์ดิจิทัล

นายวุฒิชัย วิศาลคุณา รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม ฟีโบ้ หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้นักศึกษาได้ใช้ทฤษฎีที่ได้รับจากการเรียนในชั้นเรียนมาประยุกต์ใช้ในการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ระบบการทำงานจริง พร้อมเก็บเกี่ยวความรู้และทักษะผ่านโจทย์ที่ได้รับมอบหมายจากภาคอุตสาหกรรม ก่อนส่งมอบเอาท์พุตให้สถานประกอบการได้ตรงตามความต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นการสนองตอบนโยบายภาครัฐในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในสถาบันการศึกษา ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ให้กับประเทศได้อย่างตรงจุด

“ดีป้า” เร่งสร้างกำลังคนดิจิทัล ตอบโจทย์อุตฯ

ด้านนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่าง “เบียร์ – อัยการ สุธาพจน์” เล่าถึงประสบการณ์การทำงานจริงกับสถานประกอบการว่า นักศึกษาทั้ง 4 คนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับประสบการณ์ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลผ่านโจทย์ที่ได้รับจากการทำงานจริงจากสถานประกอบการ พร้อมค่าตอบแทน และการันตีการมีงานทำหลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งส่วนตัวมองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักศึกษารุ่นหลัง ทั้งในด้านประสบการณ์การทำงาน และโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานที่สนใจร่วมกับสถานประกอบการ

ส่วน บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับบุคลากรที่พร้อมใช้งานตรงตามสายงานที่ต้องการ พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์จากโจทย์ที่มอบหมายแก่นักศึกษา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอด หรือขึ้นทะเบียนนวัตกรรมก่อนดำเนินการในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ทั้งนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ 3 คนได้ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเอนกประสงค์ (Multi-functional Mobility: MuM II) กับ บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดย MuM II ถูกออกแบบและพัฒนาให้รองรับการทำงานหลากหลายหน้าที่ ซึ่งสามารถปรับโมดูลได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน อาทิ โมดูลฆ่าเชื้อด้วยแสง UV หรือโมดูลส่งอาหารผู้ป่วยอัตโนมัติ ส่วนนักศึกษาอีก 1 คนได้ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์หยิบของโดยใช้กล้อง 3 มิติ ซึ่งในอนาคต สถานประกอบการจะนำผลงานทั้งสองโครงการมาบูรณาการกัน เพื่อนำมาใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

“ดีป้า ไม่หยุดที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพกำลังคนดิจิทัลรองรับความต้องการของเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนอัตราการเติบโตของประเทศ ซึ่งเมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องปรับตัวให้ทันต่อบริบท และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” ผู้อำนวยการใหญ่     ดีป้า กล่าว