“สสว.” นำร่องติด QR Code มะพร้าวกรุยทางส่งออกตลาดจีน

13 ก.ค. 2563 | 09:25 น.

“สสว.” นำร่องติด QR Code มะพร้าวกรุยทางส่งออกตลาดจีน สร้างโอกาสทำตลาดหลังโควิด-19

นายวีระพงษ์  มาลัย  ผู้อำนวยการ  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว” เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “เซ็นทรัลแล็บ” และ China Certification & Inspection (Group) Co.,Ltd บริหารงานโดย China Nation Import & Export Commodities Inspection Corporation (CCIC) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจตรวจสอบสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆทั่วโลก  เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกของ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ไทยไปยังประเทศจีน

                ทั้งนี้ ล่าสุดได้มีการนำร่องสินค้ามะพร้าวน้ำหอม จากบริษัท เอนซี โคโคนัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม โดยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนมาก  ซึ่งทางเซ็นทรัลแล็บและ CCIC ได้ตรวจรับรองมาตรฐานมะพร้าวน้ำหอมของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศจีนกำหนด โดยสินค้ามะพร้าวน้ำหอม ได้มีการติดสติกเกอร์ QR Code เพื่อรับรองมาตรฐาน และสร้างความมั่นใจให้ความผู้บริโภคจีน ว่าเป็นสินค้ามะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง

                อย่างไรก็ดี เมื่อสแกนสติกเกอร์ QR Code จะแสดงข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ 1.ชื่อผลิตภัณฑ์ และข้อมูลเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ เช่น ขนาด น้ำหนัก จำนวนการบรรจุ วิธีบริโภค เป็นต้น  ,2. แหล่งกำเนิดสินค้า ,3. ชื่อผู้ผลิต ,4. ข้อมูลบริษัทอย่างย่อ ,5. เอกสารสำคัญการจดทะเบียนต่างๆ เช่น เอกสารจดเครื่องหมายการค้า ใบรับรองใบประกาศนียบัตร เป็นต้น ,6. ข้อมูลภาพกระบวนติดตามของข้อมูลสินค้า และการขนส่ง ,7. หน่วยตรวจสอบและเอกสารรับรองต่างๆ เช่น ใบตรวจทางวิทยาศาสตร์ และ 8. ชื่อด่านท่าเรือที่ส่งออกและปลายทางที่นำเข้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าที่มาจากประเทศไทย ให้กับผู้บริโภคในประเทศจีน

“สสว.” นำร่องติด QR Code มะพร้าวกรุยทางส่งออกตลาดจีน

“หลังจากที่โครงการนำร่องในสินค้ามะพร้าวน้ำหอมประสบผลสำเร็จ สสว. จะผลักดันสินค้าของไทยอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนอย่าง เช่น ผลไม้สดซึ่งมีตัวเลขการส่งออกสูงถึง 115% ให้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และติดสติกเกอร์ QR Code จากเซ็นทรัลแล็บ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนเกิดความมั่นใจ และทำให้สินค้าของไทยขยายตลาดในจีนได้กว้างขวางมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าของไทยมีโอกาสในการเจาะตลาดจีนมากขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยุติลง”

นายวีระพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นตลาดสินค้าส่งออกตลาดเดียวที่ยังมีศักยภาพในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในการส่งสินค้าของไทยไปประเทศจีนยังประสบอุปสรรคปัญหาต่างๆ อีกมาก ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบของแต่ละมณฑลที่แตกต่างกัน เรื่องมาตรฐานด้านต่างๆ  รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การขยายตลาดสินค้าของเอสเอ็มอีไทยเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

                “มาตรการในการรับรองมาตรฐานร่วมกันที่ต้นทางการผลิตในไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้เอสเอ็มอีไทย และลดอุปสรรคในการส่งออกไปตลาดจีนได้มาก ทำให้สินค้าไทยผ่านไปยังมณฑลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะทั้งประเทศจะใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการส่งออก และการตรวจสอบต่างๆ ทำให้สินค้าจากไทยมีความได้เปรียบกว่าสินค้าจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น”

                อย่างไรก็ตาม  การดำเนินการดังกล่าวยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำสื่อสารทางการตลาด  และการประชาสัมพันธ์ได้เพิ่มมากขึ้นจากมาตรฐานการรับรองดังกล่าวที่ช่วยการันตี  เพราะผู้บริโภคเองย่อมต้องการได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแท้จากแฟล่งผลิต  ขณะที่ด่านศุลกากรเองก็ทำงานได้ง่ายมากขึ้น  เพาะรสามารถตรวจสอบได้ถึงที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์  โดยนวัตกรรมดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ตามที่ต้องการ

                สำหรับในปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่ทำการค้ากับประเทศจีนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปี สสว. จะมีโครงการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ทำการค้ากับต่างประเทศหลายพันราย  ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดจีนเป็นหลัก  ดังนั้น  สสว. จึงเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว  เพื่อช่วยส่งเสริมการทำตลาดให้มีประสิทธิภาพ

นายหลิว  หัวลี่  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลจีนส่งเสริมและสนับสนันให้ใช้คิวอาร์โค้ดประเภทตรวจสอบย้อนกลับ  เพราะทำให้รับรู้ถึงประวัติของผลิตภัณฑ์ได้ทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงส่งออก  ส่วนการที่ประเทศกลุ่ม อียู (EU) ไม่นำเข้ากะทิก็เพราะเป็นการรับทราบข้อมูลที่คลาดเคลื่อน  หรือผิดพลาดในการใช้ลิงเก็บมะพร้าว  แต่หลังจากใช้คิวอาร์โค้ดดังกล่าว  ทำให้รัฐบาลจีนรับทราบข้อมูลทั้งหมดของมะพร้าว  เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน

                “กฎระเบียบการนำเข้าของจีนจะเหมือนกันทั้งหมดเป็นมาตรฐาน  เพียงแต่ในแต่ละด่านอาจจะมีความแตกต่างกันที่การทำงานของแต่ละด่าน รวมถึงการสื่อสารการให้ข้อมูลในระหว่างด่าน  ซึ่งอาจทำให้แต่ละด่านมีความแตกต่างกัน”

นายหลิว  หัวลี่

                นายณรงค์ศักดิ์  ชื่นสุชน  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนซี โคโคนัท จำกัด กล่าวว่า ตามปกติประเทศจีนถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทในการทำตลาดต่างประเทศจากทั่วโลกประมาณ 60-70% โดยไม่มีอุปสรรคทางการค้าแต่อย่างใด  แม้กระทั่งช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจจะมีการชะลอการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ลงไปบ้างช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์  แต่หลังจ่ากนั้นคำสั่งซื้อก็มีมาอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการของตลาดจีน  โดยตลาดจีนยังมีโอกาสในการเติบฌดตอีกมาก  อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางด้านการตลาด 

                “เอ็นซีมีการส่งสินค้าไปขายที่จีนเป็นหลัก ทั้งแบรนด์ของตนเองที่มีบริษัทของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้เป็นผู้กระจายสินค้า  และขายสินค้าให้กับห้างเหอหม่า ของอะลีบาบา และร้านอะโกด้าซึ่งมีจำนวนสาขา 4,000-5,000 สาขาในจีน  และผู้ค้ารายย่อยอีกเป็นจำนวนมาก  โดยตลาดจีนยังมีโอกาสและศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการที่ดีมาก  เพียงแต่ต้องเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ”