เปิดโผเอกชน 4 ราย ซื้อซองประมูล “สายสีส้ม” วันแรก

10 ก.ค. 2563 | 10:17 น.

รฟม.เปิด 4 รายชื่อ หลังเอกชนซื้อซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท คาดมีนักลงทุนต่างชาติสนใจซื้อซองประมูลต่อเนื่อง หวังเกิดการแข่งขันมากขึ้น เร่งแล้วเสร็จให้ทันตามแผนในปี 2566

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. รฟม. ได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นวันแรก โดยมีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวน 4 ราย ดังนี้        

 

อ่านข่าว รฟม.เข็น "สายสีส้มตะวันตก-ม่วงใต้" จ่อประมูลปีนี้

อ่านข่าว BEM-BTS เดือด ชิงสัมปทาน‘สายสีส้ม’

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม 2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส 3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ รฟม. จะเปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ไปจนถึงวันที่ 24 ก.ค.63 ตั้งแต่เวลา 9.00 น.-15.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม.

 

"คาดว่าเอกชนทั้ง 4 รายจะเข้ายื่นซองประมูลทั้งหมด แต่ทั้งนี้ยังคาดหวังว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อเอกสารฯ เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มากกว่า ซึ่งสาเหตุที่ต่างชาติยังไม่เข้ามาซื้อซองในเวลานี้ เพราะอาจจะยังติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตามในส่วนของการประมูลคงต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทันกับแผนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มในปี 66"

สำหรับการประมูลคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 ล้านบาท  ซึ่งเป็นลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการฯ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – สถานีสุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ – สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost) 

 

ทั้งนี้ระยะเวลาร่วมลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้  ระยะที่ 1 : การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่  ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ     ส่วนตะวันออก เป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน   ส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและ  ทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ ส่วนตะวันตก เป็นระยะเวลา 6 ปี   ระยะที่ 2 : การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการฯ ส่วนตะวันออก  ทั้งนี้การคัดเลือกดังกล่าว จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 อย่างเคร่งครัด