ครม.เห็นชอบ อาคารใหญ่ 9 ประเภท 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องอนุรักษ์พลังงาน

09 ก.ค. 2563 | 02:52 น.

ครม.เห็นชอบเดินหน้าแผนปฏิรูปพลังงาน ไฟเขียว ร่างกฎกระทรวงฯกำหนดอาคารขนาดใหญ่ 9 ประเภท พื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ต้องอนุรักษ์พลังงาน มีผลบังคับใช้หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมครม. เมื่อวานนี้ (8 ก.ค.63) ที่ประชุม เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคารและมาตรฐานหลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ..ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงเดิม เพื่อให้การกำกับดูแลและควบคุมการออกแบบอาคารมีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาระการลงทุนจัดหาไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประเทศ สอดคล้องตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.กำหนดประเภทหรือขนาดของอาคาร เช่น การก่อสร้างอาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ สถานศึกษา สำนักงานหรือที่ทำการ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ สถานบริการ โรงแรม สถานพยาบาล ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า และอาคารชุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เปิดเอกสารเวียน "ครม." สั่ง ทุกหน่วยงาน เร่งจัดอบรม-สัมมนา ตจว.

ครม.เคาะงบกลางกว่า 500 ล้านบาทรับมือน้ำหลาก

ครม.เคาะ "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้

2.กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคาร เช่น ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และระบบปรับอากาศ ในแต่ละประเภทและขนาดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศกำหนด

3.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณการออกแบบอาคาร เช่น ต้องแสดงรายการคำนวณเป็นไปตามวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศกำหนด หรือวิธีการตามมาตรฐาน ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หรือสมาคมสถาปนิกสยามฯ หรือมาตรฐาน ที่ คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

4.การดัดแปลงอาคารที่มีผลเป็นการดัดแปลงพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบอาคารในส่วนที่ดัดแปลงนั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

 

นางสาวรัชดา ยังกล่าวด้วยว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะส่งผลให้อาคารทั้ง 9 ประเภทที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลงที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องออกแบบให้ระบบต่างๆมีการใช้พลังงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานในการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่ประหยัดพลังงานในประเทศ โดยหากเจ้าของไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามกฎหมายควบคุมอาคาร คือ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารหรือเปิดใช้งานอาคารหากไม่แก้ไขปรับปรุงให้ผ่านตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป