เศรษฐกิจฝืดเคือง...มาเยือน ประเทศเงินหายวับ 1.7 ล้านล้าน

08 ก.ค. 2563 | 23:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3590  หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

เศรษฐกิจฝืดเคือง...มาเยือน

ประเทศเงินหายวับ 1.7 ล้านล้าน

 

     เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในวังวนแห่งพายุเฮอริเคน ที่น่าจะกลายเป็นจุดเหวี่ยงครั้งสำคัญที่คนไทยทุกคนจะต้องเผชิญ และอยู่กับมันให้ได้

     กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวลงมามากถึง 4.9% ในปีนี้ เป็นการปรับลดจากที่ได้ประมาณการในเดือนเมษายนว่าจะติดลบแค่ 3% เนื่องจากมีแนวโน้มที่วิกฤตการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงและฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้มาก

     เศรษฐกิจอเมริกาจะติดลบ 8% สหภาพยุโรปติดลบ 10.2% เยอรมันนีติดลบ 7.8% ฝรั่งเศสติดลบ 12.5% เศรษบกิจญี่ปุ่นติดลบ 5.8% อังกฤษติดลบ 10.2% ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ติดลบ 3.7% อินเดียติดลบ 4.5%

     IMF ยังระบุว่า การหดตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้จะมีความรุนแรงมากที่สุดนับจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 หรือที่เรียกขานกันว่า Great Depression หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง

     “เกรท ดีเปรสชั่น” ลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกเป็นผลสืบเนื่องจากความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายประเทศพยายามฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั่วทั้งยุโรป อเมริกา จนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่สร้างความเสียหายออกไปในวงกว้างไปทั่วโลก ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกขณะนั้นลดลงฮวบฮาบกว่า 10%

     เฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลกในขณะนั้น จีดีพีหดตัวราวกับนัดกันไว้มากมายถึง 16%

     ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั่วทั้งยุโรป อเมริกา ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นเพียงการสร้างภาพแก่นักลงทุนในแต่ละปีหุ้นมีราคาสูงขึ้นประมาณ 22% ดัชนีหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นจาก 100 ใน ค.ศ. 1926 เป็น 225 ใน ค.ศ. 1929 ทำให้คนหันมาลงทุนในตลาดหุ้นมาก เพราะหวังผลกำไรในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มประสบปัญหาเพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง การกู้ยืมมีมากและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความต้องการในสินค้าเริ่มลดลง จนทำให้ผู้ประกอบการงดลงทุนเพราะเกรงว่าสินค้าที่ผลิตจะจำหน่ายไม่หมด

     นักธุรกิจและนายธนาคารซึ่งไม่มั่นใจในตลาดหุ้น จึงพยายามเรียกคืนหนี้สินที่ปล่อยกู้ไปราคาหุ้นจึงดิ่งลงเรื่อยๆ จนตลาดหุ้นที่วอลสตรีท นครนิวยอร์ก ล้มลงเมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่าอังคารทมิฬ (Black Tuesday)

     ความเสียหายทางการเงินครั้งนั้น ไม่เพียงทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมาก จนธนาคารหลายพันแห่งต้องล้มลง และมูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ แต่ยังนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และขยายตัวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาอั้นสั้นและกว่าจะฟื้นตัวทำเอาทุกคนจนลง

     ย่ำแย่หนักขนาดนั้น ทว่า IMF กลับบอกว่า เกรท ล็อกดาวน์ ที่เกิดขึ้นรอบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวลงอย่างมาก วิกฤตินี้จะทำให้จีดีพีของทั้งโลกตลอดช่วง 2 ปี ข้างหน้า จะสูญเสียไปมากถึงราว 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าเกรท ดีเปรสชั่นหลายเท่าตัว

เศรษฐกิจฝืดเคือง...มาเยือน ประเทศเงินหายวับ 1.7 ล้านล้าน

     IMF หน่วยงานที่ไม่ใช่พ่อ จึงได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาว่า จะติดลบราว -7.7%

     ขณะที่ ธนาคารโลกและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวติดลบ 5.2% และ 6% ตามลำดับ

     ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบประมาณ -8.1%

     คล้อยหลังจากนั้นคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งมี 3 องค์กรหลักเป็นสมาชิกคือ สมาคมธนาคารไทย-สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-สภาหอการค้าไทย จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงมาเป็น -5% ถึง -8% จากเดิม -3% ถึง -5%

     ขณะที่ปรับลดกรอบประมาณการณ์การส่งออกของไทยลงมาเป็น –7% ถึง -10% (จากเดิม  -5% ถึง -10%)

     นอกจากนี้ กกร.ยังได้ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่เป็นดัชนีราคาสินค้าและบริการของไทยว่าจะติดลบ -1.0%  ถึง -1.5%

     การประเมินแบบนี้ของหน่วยงานสำคัญของโลกและของประเทศกำลังบอกเราว่าอะไร

     ผมแปลไทยเป็นไทยให้คนในระดับชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้

     ถ้ามีการประเมินว่า Gross Domestic Product:GDP ไทยจะเป็นบวก แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการเติบโตขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น แต่สิ่งที่อาจตามมาได้ คือ อัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อคนมีความต้องการซื้อกันมากขึ้น สามารถดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมาได้

     แต่ถ้ามีการประเมินว่า Gross Domestic Product:GDP ไทยจะเป็นลบ แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวเลง มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศลดลง

     ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ Gross Domestic Product เป็นขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่วัดจากมูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศในแต่ละปีของประเทศ

     จีดีพีทั้งโลกซึ่งเป็นมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่าอยู่ที่ 87,265,226 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

     ถ้าจีดีพีโลกหดตัวลง 4.9% หมายถึงว่าเศรษฐกิจทั้งโลกจะหายไปราว 4,275,996 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 132,555,878 ล้านบาท

     เงินก้อนโตของโลกหายไปขนาดนี้ ไทยจะหนักขนาดไหน เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

เศรษฐกิจฝืดเคือง...มาเยือน ประเทศเงินหายวับ 1.7 ล้านล้าน

     ประเทศไทยมีขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)อยู่อันดับที่ 22 ราว 529,177 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,875,891 ล้านบาท แต่ถ้าคิดจากอำนาจซื้อโดยดูจากค่าครองชีพ เขาจะเรียกว่า GDP at Purchasing Power Parity (PPP) ซึ่ง จีดีพี at PPP ของประเทศไทยจะพุ่งขึ้นสูง 42 ล้านล้านบาท

     การที่ไอเอ็มเอฟบอกเราว่า เศรษฐกิจประเทศไทยจะหดตัวลงติดลบ 7.7% นั้น หมายถึงว่า ขนาดของเศรษฐกิจไทยหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะหดตัวลงจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 16,875,891 ล้านบาท เหลือเพียง 15,576,447 ล้านบาท  มูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศหายไปถึง 1,299,443 ล้านบาท

     การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 8.1% นั้นหมายความว่า ขนาดของเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงจาก16,875,891 ล้านบาท เหลือเพียง 15,508,943 ล้านบาท เงินในระบบเศรษฐกิจที่วัดจากมูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศหายไปร่วม  1,366,947 ล้านบาท

     ครั้นพิจารณาจากรายได้ของการส่งออกที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าการส่งออกจะติดลบ 10.3% ขณะที่ กกร.ประเมินว่าการส่งออกของไทยจะติดลบ 7-10%หมายถึงว่าอะไร

     ดูนี่ครับ ในปี 2562 ทั้งปี ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ ได้เงินเข้ามาหล่อเลี้ยงผู้คนได้ทั้งหมดราว 246,245 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือตกประมาณ 7.7 ล้านล้านบาท

     ถ้าการส่งออกหดตัวลง 7-10.3% หมายถึงเงินที่เข้ามาซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการจ้างงานในประเทศจะหายไป 539,000-793,100 ล้านบาท

     แต่ถ้าเป็นไปตามที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวติดลบ 10.3% การส่งออกติดลบ 16.1% หมายถึงว่ามูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศหายไปร่วม  1,738 216 ล้านบาท และรายได้จากการส่งออกจะหายไปราว 39,645 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1,189,100 ล้านบาท

     การปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่เป็นดัชนีราคาสินค้าและบริการของไทยว่าจะติดลบ -1.0%  ถึง -1.5% มันกำลังบ่งบอกว่าระดับราคาสินค้าหรือบริการในห้วงระยะเวลาปีนี้จะหดตัวลงติดลบ 1-1.5% อำนาจการซื้อของผู้คนในประเทศจะลดลงต่อหนึ่งหน่วยเงินตราที่เคยซื้อหาได้จะลดลงร้อยละ 1-1.5

     ไอ้การที่เงินเฟ้อติดลบ ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกว่า ภาวะเงินฝืด ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง และการที่ราคาสินค้าเฉลี่ยในท้องตลาดอยู่ในภาวะที่ลดลง เป็นอาการที่บอกเราว่าภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้คนขาดกำลังซื้อ

     สัญญาณนี้เกิดแล้วครับ เพราะในเดือนพฤษภาคมนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 3.44% ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือนนับจากเดือนก.ค.2552 ที่เงินเฟ้อลดลงมาติดลบ 4.4%

     คอยดูตัวเลขเดือนกรกฎาคมว่าจะเป็นอย่างไร? เพราะถ้าติดลบต่อเนื่องกันเกิน 3 เดือน เขาว่า เงินฝืดครับ เงินฝืด

     ภาวะฝืดเคืองที่มาจากรายได้การส่งออกที่หายไปตั้งแต่ 5 แสนล้าน 7 แสนล้านบาท ถึง 1.18 ล้านล้านบาท มันจึงทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศลดฮวบลงมาตั้งแต่ 1.3-1.7 ล้านล้านบาท

     นี่ผมยังไม่นับรวมรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีการประเมินไว้เดิมว่า ปีนี้รายได้จากการท่องเที่ยวจะมีแค่ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลง 60% หรือลดลง 1.78 ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวมกว่า 3.01 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 39.79 ล้านคน รายได้รวม 1.93 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยอีก 166.84 ล้านคน/ครั้ง ทำรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยแค่ 7-8 ล้านคน ก็บุญโขหัวพี่ไทยแล้วครับ

     เงินที่มันหายไปจากระบบขนาดนี้แหละ ที่ทำให้เกิดการฝืดเคืองไปหมด....รับแรงกระแทกกันให้ดีๆ นะครับ