ธรรมะกับการเมือง

07 ก.ค. 2563 | 11:45 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3590 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ย.63 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ธรรมะกับการเมือง

 

     ช่วงนี้เป็นเวลาวันหยุดยาวติดต่อกัน อันเนื่องจากเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาคือ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค. และวันจันทร์ที่ 6 ก.ค. ก็เป็นวันเข้าพรรษา ทางราชการจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดถึงวันอังคารที่ 7 ก.ค. เพื่อชดเชยให้แก่วันหยุดสำหรับวันอาสาฬหบูชา พี่น้องประชาชน ข้าราชการและพนักงานทั้งหลาย จึงได้หยุดพักผ่อนยาวต่อเนื่องกัน

     หลายคนก็ถือโอกาสเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ท่องทะเล เกาะแก่ง ชื่นชมภูเขา ธรรมชาติอันงดงามภายในประเทศ หลังจากวิกฤติโควิดผ่อนคลายลง ส่วนประชาชนอีกจำนวนมากและกลุ่มสายบุญผู้ปฏิบัติธรรม ก็หันหน้าเข้าวัดฟังเทสต์ปฏิบัติธรรม เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต และเพื่อเข้าหาแก่นธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามวิถีไทยใครรักชอบกิจกรรมใด ก็เลือกได้ตามใจตน เมื่อรัฐได้ผ่อนปรนมาตรการเกือบเป็นปกติทุกกิจกรรมแล้ว

     ในเวลาเช่นนี้ จึงถือเป็นเวลาแห่งการสำรวมจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ เพราะการนับถือศาสนาของคนไทย มีตัวเลขสำรวจในปี 2557 ส่วนใหญ่ 94.6 % เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็มีผู้นับถือศาสนาอื่นๆอยู่ร่วมกันโดยสันติ คือ ศาสนาอิสลามประมาณ 4.2 % คริสต์ 1.1% ลัทธิขงจื้อ ฮินดู ยูดาห์ ซิกข์ ลัทธิเต๋า และไม่มีศาสนา รวมกันประมาณ 0.1 %

     แม้มีผู้นับถือศาสนาแตกต่างหลากหลาย แต่ประเทศไทยก็อยู่กันมาด้วยความสงบสุข ด้วยความรักสามัคคี ผู้คนต่างเคารพในสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกันในการนับถือศาสนา เราไม่มีข้อพิพาทเหตุขัดแย้งหรือการรบราฆ่าฟันกัน ระหว่างผู้นับถือศาสนาที่แตกต่างกันแต่อย่างใด จึงนับเป็นความโชคดีที่สุดของคนไทย ที่ทุกๆ นิกายศาสนาต่างอยู่ร่วมกัน สามัคคีกัน อยู่ภายใต้ร่มโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกันมาต่อเนื่องยาวนานนับร้อยๆ ปี นี่คือความงดงามของสังคมไทย ที่ประเทศอื่นๆ ไม่มี

     ธรรมะและคำสอนในทางศาสนา ล้วนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนให้มีความรัก ความเมตตาต่อกัน ทุกศาสนาล้วนแต่สอนให้คนเป็นคนดี ในทางพุทธก็สอนให้ละชั่วเกรงกลัวต่อบาป ให้ทำกรรมดีมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและนำทางชีวิต หากทุกคนยึดถือธรรมะและคำสอนพระพุทธเจ้า โดยมิใช่เป็นเพียงชาวพุทธตามทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชนเท่านั้นแล้ว สังคมไทยคงสงบสุข เจริญรุ่งเรืองยิ่งยืนนาน น่าเที่ยว น่าอยู่อาศัยกว่าชาติใดๆ ในโลก

     เมื่อสำรวมจิตใจและทบทวนความเป็นมาของประวัติศาสตร์ การรวมชาติรวมแผ่นดินของบูรพมหากษัตริย์ และบรรพบุรุษไทย ที่ได้ยึดเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มาเป็นศาสนาหลักของคนไทยแล้ว ชนชาวไทยทั้งหลาย คงต้องน้อมรำลึกถึงพระคุณบรรพบุรุษไทย ที่ได้ตัดสินใจเลือกเช่นนั้น เพราะไม่ว่าประเทศจะเผชิญวิกฤติร้ายแรงน้อยใหญ่สักเพียงใด ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังคงเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ และนำพาให้เรารอดพ้นจากวิกฤติทั้งหลายทั้งปวงตลอดมา ด้วยเหตุนี้เราจึงมีคำขวัญประจำชาติว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" เป็นฐานรากของแผ่นดิน

     นั่นคือความสำคัญของพุทธศาสนากับสังคมไทย เมื่อพูดถึงประชาชนแล้ว ขอหันมาพูดถึงเรื่องนักการเมืองกับธรรมะสักเล็กน้อย กับบรรยากาศของบ้านเมืองขณะนี้ หลังฟังข่าวนักการเมือง แย่งชิงตำแหน่ง แย่งกันเป็นใหญ่ ใฝ่หาอำนาจและหาทางเล่นงานฟาดฟันคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกตน ทำให้นึกถึงหนังสือ "ธรรมะกับการเมือง" ของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งมีผู้รวบรวมจากคำบรรยายประจำวันเสาร์ของท่าน ที่ลานหินโค้ง ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา ภาคอาสาฬหบูชา โดยธรรมทานมูลนิธิได้จัดพิมพ์  เป็นฉบับที่ระลึกครบรอบ 100ปี พุทธทาสภิกขุ (วันที่ 29 พฤษภาคม 2449-2549) เนื้อหาคำบรรยายมีทั้งหมดรวม 11 ครั้ง

     โดยคุณค่าของคำบรรยายของพระสงฆ์ผู้เป็นปราชญ์ของแผ่นดินดังกล่าวนี้ ปรากฎในหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว เหมาะสม อย่างยิ่งที่นักการเมืองไทยยุคนี้ควรจะได้หามาอ่าน หรือจะให้ดีอยากฝากให้ท่านนายกรัฐมนตรี ควรแนะนำให้รัฐมนตรี หรือนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐทุกคนหามาอ่านบ้าง จะได้ช่วยให้สงบจิตสงบใจ ใส่ธรรมะไว้ในการเมืองบ้างก็ดี น่าจะเหมาะแก่โอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนา ในวันอาสาฬหบูชานี้

     ผู้เขียนมิได้เป็นผู้เข้าใจลึกซึ้งในทางพุทธศาสนา  แต่ก็สนใจและใฝ่ในทางธรรม เห็นคำสอนและความตอนหนึ่งในคำอนุโมทนา ที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว ช่างเป็นธรรมมะที่ลึกซึ้งตรงกับการเมืองไทยปัจจุบันเหลือเกิน แม้ว่าท่านจะกล่าวไว้นานมากแล้วก็ตามน่าจะเหมาะสมกับภาวะการบ้านเมืองขณะนี้ จึงขอคัดบางส่วนมาเพื่อท่านที่เป็นนักการเมืองทั้งหลายพึงพิจารณา เพราะธรรมะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักการเมืองในปัจจุบัน

     โดยท่านได้ให้คำสอนเตือนสติไว้ดังนี้ ครับ "ธรรมะกับการเมือง เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ แยกกันเมื่อไหร่การเมืองก็กลายเป็นเรื่องทำลายโลกขึ้นมาทันที นักปรัชญาการเมืองแต่โบราณ  ขอร้องให้ทุกคนเป็นสัตว์การเมือง (Political animal) คือมีหน้าที่สนใจการเมือง ร่วมกันจัดสังคมให้อยู่กันอย่างสงบสุข โดยไม่ต้องใช้อาชญา แต่คนสมัยนี้ ทำได้มากเกินไปขนาดที่เรียกว่า การเมืองขึ้นสมองแล้วใช้การเมืองนั้นเองเป็นเครื่องมือกอบโกย หรือฟาดฟันผู้อื่น ครอบงำผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว ดังนั้น แทนที่การเมืองจะตั้งอยู่ในฐานะเป็นเรื่องศีลธรรม ก็กลายเป็นเรื่องอุปัททวะจัญไรในโลกไปเสีย

     เมื่อกล่าวโดยปรัชญาทางศีลธรรม การเมืองก็คือหน้าที่ของมนุษย์ ที่เขาจะต้องประพฤติกระทำ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอันเฉียบขาด เพื่อผลคือการอยู่กันเป็นผาสุก โดยไม่ต้องใช้อาชญา แต่เมื่อไม่มีการคำนึงถึงศีลธรรมกันเสียแล้ว การเมืองก็กลายเป็นเรื่องสกปรกสำหรับหลอกลวงกันไปเสีย มีแต่สัตว์การเมืองที่เป็นสัตว์เอาเสียจริงๆ กล่าวคือ บูชาเรื่อง กิน-กาม-เกียรติ แทนสันติสุข

     มีใครสักกี่คนที่เป็นนักการเมืองเพื่อเอาบุญ ด้วยการมุ่งสร้างสันติภาพขึ้นในโลก? และมีสักกี่คนที่เป็นนักการเมือง เพื่อตัวกู-ของกู และมีผล กลายเป็นเรื่องของ กิน-กาม-เกียรติ ชนิดที่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว

     นักการเมืองที่แท้จริง ต้องมีสังกัดพรรค ขึ้นอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นยอดสุดของนักการเมือง โดยท่านมุ่งหมายจัดสากลจักรวาล ให้อยู่กันอย่างสงบสุขโดยไม่ต้องใช้อาชญา แต่มนุษย์เป็นอันธพาลเสียเอง จัดการเมืองอย่างเป็นพรรคของมาร หรือกิเลสซึ่งควรเปรียบด้วยภูตผีปีศาจ เพื่อตัวกู-ของกู โดยไม่ต้องมองดูประโยชน์ของผู้อื่น, เป็นการท้าทายเหยียดหยามพระเจ้า !

     การเมืองที่แท้จริงสำหรับมนุษย์ ต้องตั้งรากฐานอยู่บนรากฐานทางศาสนา ของทุกศาสนาที่มีอยู่ว่า "สัตว์ทั้งหลาย เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น" นักการเมืองที่มีธรรมะสัจจะข้อนี้อยู่ในใจ ย่อมเป็นนักการเมืองของพระเจ้า การเคลื่อนไหวของเขาทุกกระเบียดนิ้ว มีแต่บุญกุศล จนกระทั่งกลายเป็นปูชนียบุคคลไป

     ขอภาวนาให้โลกเรา มีนักการเมืองชนิดนั้นเป็นผู้จัดการเมืองของโลก โดยทั่วไปเถิด"

     ในโอกาสวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา  จึงขอฝากธรรมะนี้แก่นักการเมืองไทยทุกคนด้วยครับ