“วีระกร” ชี้ช่องรัฐ ผ่าทางตัน CPTPP ไฟเขียวเจรจาก่อนเส้นตาย

10 ก.ค. 2563 | 01:55 น.

วีระกร” แนะรัฐผ่าทางตัน CPTPP กล้าไฟเขียวจองคิวร่วมเจรจาก่อนเส้นตาย 5 ส.ค. แล้วค่อยใช้ผลศึกษาพิจารณาของกรรมาธิการฯเป็นแนวทางในการเจรจาตามหลัง ช่วยลดความกังวลภาคเอกชน พาณิชย์ปัดไม่เป็นคนชงแน่ ด้านเอฟทีเอ ว็อทช์ชี้ต่อเวลาศึกษาอีก 60 วัน ส่งผลดีไม่ต้องรีบร้อน

คณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.) พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ได้นำเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 60 วัน (จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ก.ค.63) หรือขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 10 กันยายน 2563 ซึ่งหมายถึงความหวังของภาคเอกชนที่เสนอให้รัฐบาลยื่นหนังสือแสดงจำนงเพื่อขอเข้าร่วมเจรจา CPTPP ลางเลือนลง และอาจต้องรอเสนอในอีก 1 ปีข้างหน้า

นายวีระกร  คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP  สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขอขยายเวลาอีก 60 วัน เป็นผลจากมีหลายประเด็นอ่อนไหวที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาศึกษารายละเอียดอย่างละเอียดถ่องแท้ให้สิ้นความสงสัย อย่างไรก็ดีข้อเสนอแนะส่วนตัวหากรัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยต้องไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอร่วมเจรจาเพื่อให้ทันการพิจารณาอนุมัติของรัฐมนตรีการค้า CPTPP ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ที่ประเทศเม็กซิโก ก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลที่สามารถทำได้

ช่าวที่เกี่ยวข้อง

“สุพันธุ์” ชี้ญี่ปุ่นหนุนไทยเข้าร่วม “CPTPP”

ไส้ใน CPTPP 11 ประเทศ ขอผ่อนปรนอื้อ

เปิดเอกสารข้อตกลง CPTPP องค์การเภสัชฯ แจงยิบ ค้านไทยเข้าร่วม

ทั้งนี้หากสมาชิก CPTPP พิจารณาให้ไทยเข้าร่วมเจรจาแล้ว รัฐบาลก็สามารถนำผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการฯไปเป็นแนวทางในการเจรจาได้  เพราะถึงที่สุดแล้วเมื่อรัฐบาลไปเจรจาแล้วเสร็จ หากเห็นว่าสมควรเข้าร่วมความตกลง ในขั้นตอนการให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ก็ต้องนำกลับมานำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญอยู่ดี ซึ่งรัฐสภาจะอนุมัติหรือไม่ก็จะพิจารณาจากผลการเจรจาของรัฐบาลได้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการได้ชี้แนะแนวทางหรือไม่ 

“วีระกร” ชี้ช่องรัฐ  ผ่าทางตัน CPTPP  ไฟเขียวเจรจาก่อนเส้นตาย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่จะให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ต้องมีหน่วยงานนำเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม คำถามคือใครจะเป็นคนนำเสนอ ซึ่งคงไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ เพราะก่อนหน้านี้นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยประกาศแล้วว่าจะไม่นำเสนอเรื่องเพื่อขอให้ครม.พิจารณาอนุมัติไทยเข้าร่วมเจรจา หากยังมีความขัดแย้ง อย่างไรก็ดีจากสถิติการใช้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อประโยชน์ทางการค้า พบว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันของไทยหลายประเทศมีสัดส่วนการค้ากับประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอสูงกว่าไทย ชี้ให้เห็นว่าจากนี้ไปสมาชิกประเทศข้อตกลงเอฟทีเอต่างๆ ค้าขายกันเองภายในกลุ่มมากขึ้น (กราฟิกประกอบ)

“มีหลายฝ่ายระบุว่าในจำนวนสมาชิก CPTPP 11 ประเทศมีเพียง 2 ประเทศที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอด้วยคือเม็กซิโก และแคนาดา จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องเข้าร่วม ซึ่งในข้อเท็จจริงเอฟทีเอที่ไทยทำอยู่แล้ว เช่นกับ ญี่ปุ่น เปรู ที่เป็นสมาชิก CPTPP ก็ยังไม่ลดภาษีให้เรา 100% ดังนั้นการเข้าร่วมจะสร้างโอกาสให้ไทยทำการค้ากับเขาได้เพิ่ม ในส่วนแคนาดา จากผลการศึกษาหากไทยเข้าร่วม CPTPP จะได้รับประโยชน์ในหลายสินค้าจะส่งออกไปแคนาดาได้เพิ่มจากภาษีที่ลดลง เช่น เนื้อไก่ อาหารทะเล และเม็กซิโกในส่วนของสินค้ายานยนต์ และชิ้นส่วน เป็นต้น”

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และสมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่คณะกรรมาธิการฯได้ขยายเวลาพิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP  อีก 60 วันเพื่อให้เกิดความรอบคอบ เพราะมีหลายประเด็นที่ยังเป็นถกเถียงและยังได้คำตอบที่ไม่ชัดเจน เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชและภาคเกษตรที่จะกระทบกับคนหมู่มากของประเทศ ในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้คณะอนุกรรมาธิการด้าน
พันธุ์พืชและเกษตรจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานมาให้ข้อมูลถึงผลกระทบ ได้แก่ กรมประมง สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่ง
ชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563