จี้รัฐปลดล็อกเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อ5หมื่นล้าน

07 ก.ค. 2563 | 05:10 น.

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเสนอรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขปล่อยกู้ 5 หมื่นล้าน ช่วยเอสเอ็มอีที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อ หรือเคยได้รับความช่วยเหลือมาแล้วให้เข้าถึงแหล่งเงินได้จริง หวั่นซ้ำรอยซอฟต์โลน 5 แสนล้านของแบงก์ชาติยังปล่อยได้ไม่ถึงแสนล้าน

การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะแม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ ออกมามาก มายจากหลายหน่วยงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีเอสเอ็มอีอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ หรือซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท จากข้อมูลล่าสุดเพิ่งปล่อยสินเชื่อออกไปได้ไม่ถึง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น จากยังติดปัญหาเรื่องของหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวดของสถาบันการเงิน

จี้รัฐปลดล็อกเอสเอ็มอี  เข้าถึงสินเชื่อ5หมื่นล้าน

ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ สสว. กำลังผลักดันมาตรการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ยังไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อภายใต้กรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท (เป้าหมาย 5 แสนราย) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 เพื่อพิจารณาสินเชื่อให้เอสเอ็มอีรายละ 1 แสนบาท(บุคคลธรรมดา) และ 1 ล้านบาท(นิติบุคคล) คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ผ่อนชำระนาน 10 ปี และยังเตรียมช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ติดปัญหาเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เป็นลำดับถัดไป

นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการความช่วยเหลือที่ภาครัฐผลักดันออกมาช่วยเอสเอ็มอีเป็นมาตรการที่ดี แต่ติดปัญหาเรื่องแนวทางปฏิบัติ  เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญคือต้องทลายกำแพงที่แต่ละส่วนงานมีลง เพื่อให้นโยบายเกิดประสิทธิผลได้จริง  ซึ่งจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อีกมาก อีกประเด็นสำคัญที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขคือเรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับเอสเอ็มอี ที่เคยได้รับความช่วยเหลือซอฟต์โลนก่อนหน้านี้  หรือในโครงการอื่นที่ทำให้หมดสิทธิ์ในการเข้าถึงความช่วยเหลืออีก ในภาวะวิกฤติแบบนี้ควรจะต้องมีการผ่อนปรนเพื่อให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ โดยที่ทุกคนควรมีสิทธิ์

“การมีข้อจำกัดเป็นเรื่องที่ไม่ผิดแต่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ในเวลานี้ ซึ่งได้มีโอกาสนำเรียนนายวีระพงษ์  มาลัย  ผู้อำนวยการ สสว. ไปแล้วในการประชุมหารือกันแบบกลุ่มเฉพาะ หากกระทรวงการคลัง หรือสมาคมธนาคารไทยเห็นด้วย  เชื่อว่าจะสามารถช่วยเอสเอ็มอีได้อีกเป็นจำนวนมาก”

ทั้งนี้ แนวทางในการช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อเป็นเรื่องที่จำเป็น  ขณะที่แนวทางในอุดหนุนช่วยเหลือเพื่อให้หลุดพ้นจากการเยียวยาก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจให้สินเชื่อตามจำนวนแรงงานที่จ้าง เช่น เอสเอ็มอีมีการจ้างแรงงาน 10 ราย ก็อาจจะให้วงเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท ประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งจะเท่ากับช่วยรายละ 10,000 บาท เท่ากับจำนวนเงิน 1 แสนบาท เป็นต้น โดย ผอ. สสว. ก็ตอบรับความคิดเห็นดังกล่าว  แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม ครม. แล้วประเด็นดังกล่าวนี้จะถูกนำไปพิจารณาด้วยหรือไม่ 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3589 วันที่ 5-8 กรกฎาคม 2563