เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับยกแผง

06 ก.ค. 2563 | 12:55 น.

วิกฤติโควิด-19 ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี และระบาดหนักมากขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคมมาจนถึงปัจจุบัน แม้ขณะนี้สถานการณ์จะเริ่มคลี่ลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับประเทศไทย แต่จากช่วงเวลาร่วม 3-4 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเศรษฐกิจมหภาคให้หดตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ปีนี้จะติดลบถึง 8.1% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เองก็คาดการณ์ว่า จีดีพี ปีนี้จะติดลบหนักถึง 8% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนักวิชาการหลายคน ที่มองว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะติดลบไม่ตํ่ากว่า 5%

ทั้งหมดนี้ เป็นผลพวงมาจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเกิดดับขึ้นมากะทันหัน จากการที่ไทยพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนสูง ทั้งรายได้จากการส่งออกลและการท่องเที่ยวทำให้เมื่อไทยต้องปิดประเทศส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% และกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งธุรกิจค้าปลีก ร้านค้า โรงแรม รวมไปถึงร้านรวงขนาดเล็กมากมาย ที่ต้องโดนหางเลขตามกันไปทั้งหมด

สอดคล้องกับรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 22 มิ.ย.-26 มิ.ย. 2563 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ที่ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคม ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเลย คิดเป็นการหดตัว 100% ส่งผลให้รายได้หายไป 100% เช่นกัน โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัว 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัว 5.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงติดลบ 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เช่นเดียวกับรายงานภาวะเศรษฐกิจฐานราก ที่แม้ปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น 3.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จนทำให้ระดับรายได้ของเกษตรกรในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น แต่ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคการผลิตและบริการยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้อุปสงค์ของโลกและของไทยเกิดการชะลอตัวในระดับสูง 

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งติดลบ 65.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัว 37.7% ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ก็ไม่แพ้กัน โดยยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวลดลงถึง 47.4% 

เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับยกแผง

ข้อมูลเหล่านี้ บ่งบอกว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นจากมาตรการเยียวยามากมาย ที่ทำให้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนและเกษตรกรยังอยู่ได้จากเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่หลังจากนี้ไป เงินอัดฉีดดังกล่าวจะหมดลง ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งการพักชำระเงินต้น ดอกเบี้ย รวมถึงยืดหนี้ออกไปประมาณ 6 เดือน หรือไปถึงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ เป็นเพียงมาตรการ บรรเทาผลกระทบเท่านั้น ดังนั้นหากหมดช่วงเวลานี้ ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจไม่มีความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ได้อีก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเพียงพอให้มีรายได้เข้ามาเช่นเดิม 

ส่วนการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน)ของธปท. วงเงิน 500,000 ล้านบาทก็เพิ่งจะปล่อยไปได้เพียง 90,000 ล้านบาท จากเงื่อนไขการเข้าโครงการที่เข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบผ่านหลักเกณฑ์ได้สินเชื่อยากมาก 

ขณะที่การกระตุ้นการลงทุนในประเทศที่เป็นเครื่องยนต์เดียวที่รัฐบาลสามารถเร่งรัดได้เร็วที่สุด กลับมีปัญหาเช่นกัน โดยแผนการร่วมลงทุนตามคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) มีทั้งหมด 92 โครงการ มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท มีการชะลอโครงการไปแล้วร่วม 10 โครงการ มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท จากโครงการที่ร่วมลงทุนที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน 18 โครงการ วงเงินรวม 472,050 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเลื่อนออกไปในช่วงต้นถึงกลางปี ซึ่งปัจจัยนี้อาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงตามไปด้วย เพราะตามปกติแล้ว เอกชนจะมีความเชื่อมั่นและลงทุนเพิ่ม ก็ต่อเมื่อโครงการลงทุนของรัฐเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอดคล้องกับข้อมูลของธปท.ล่าสุดเดือนพฤษภาคมพบว่า รายจ่ายประจำของรัฐบาล หดตัว 1.5% ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางไม่รวมเงินโอน แม้จะขยายตัว 8.1% แต่ก็ชะลอลงจากเดือนเมษายนที่ขยายตัวถึง 28.8%  และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หดตัว 11.2% จากเดือนเมษายนที่ขยายตัว 14.1% 

ดังนั้นเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายที่เป็นความหวังอันสูงสุดขณะนี้คือการกระตุ้นการบริโภค ภายในประเทศ ผ่านการเดิน ทางท่องเที่ยวของประชาชน ซึ่งครม.ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไปแล้ววงเงินงบประมาณ 22,400 ล้านบาท

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

กรุงศรี ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นหดตัว10.3%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เชื่อว่า มาตรการที่ออกมาจะสามารถกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมตามไปด้วย เพราะวงเงินงบประมาณกว่า 22,000 ล้านบาทนั้น เป็นเพียงวงเงินเริ่มต้น ที่เมื่อประชาชนได้รับสิทธิ์ก็จะเพิ่มเงินลงในระบบให้มาก
ขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม จากการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและความกังวลว่า โควิด-19 จะกลับมาอีกรอบ ทำให้คนยังไม่กล้าเดินทางมากนัก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ แม้จะมีส่วนลดให้ แต่คนส่วนหนึ่งไม่มีเงินในกระเป๋าเพียงพอให้จ่ายส่วนต่างที่เหลือที่ต้องจ่ายเองตรงนี้ อาจทำให้มาตรการไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ เพราะการระบาดรอบ 2 ได้เริ่มมีขึ้นในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แล้ว ซึ่งอาจทำให้มีการระบาดรอบ 2 เกิดขึ้นในไทยได้

ประเด็นดังกล่าว จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจ ในระยะถัดไปได้ สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่า มาตรการท่องเที่ยวของรัฐบาล ทั้งโครงการเราไปเที่ยวกัน เที่ยวปันสุข ไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนวางแผนท่องเที่ยว โดย 73% ไม่สนใจจะลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์จากมาตรการนี้เลย

“ฉะนั้นจึงต้องติดตามใกล้ชิดว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ออกมา จะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินว่าจำเป็นต้องออกมาตร การเสริมอย่างอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งสศค.ขอเวลา 1 เดือนในการพิจารณา ดังนั้นจึงได้แต่หวังว่าเครื่องยนต์สุดท้ายที่เหลืออยู่ จะยังสตาร์ตติดเพื่อให้เศรษฐกิจบินผ่านวิกฤตนี้ไปได้”

 

หน้า 13 ฉบับที่ 3,589 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563