เปิดข้อมูลทุจริต หน่วยงานราชการไทย

04 ก.ค. 2563 | 08:13 น.

ตะลึง! "มานะ" เลขาฯองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เผยผลงานวิจัยสำรวจข้อมูล ระบุ ขรก.พบเห็นการทุจริตในหน่วยงานของตน 5 ลำดับสูงสุด คือ ก.พัฒนาสังคมฯ 43 % สำนักงานพระพุทธศาสนา 40% ก.วัฒนธรรม 38 % ก.มหาดไทย 33% ขณะที่ สำนักนายกรัฐมนตรี ก.แรงงาน และก.ยุติธรรม มีสัดส่วนเท่ากันที่ 32%

วันนี้ (4 ก.ค.63) ดร.มานะ นิมิตรมงคล เปิดข้อมูลเชิงลึกผ่านเฟซบุ๊กส์ส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “มานะ นิมิตรมงคล” มีใจความที่น่าสนใจว่า  

คอร์รัปชันที่ข้าราชการพบเห็นในหน่วยงานของตน ...

งานวิจัยที่สำรวจข้อมูลจาก “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศ” ว่าพบเห็นคอร์รัปชันในหน่วยงานที่ตนเองทำงานอยู่ มากน้อยแค่ไหน ลักษณะใด และการร้องเรียนเปิดโปงเพื่อให้มีการสอบสวนดำเนินคดีเป็นอย่างไร มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

1) ข้าราชการส่วนกลาง ร้อยละ 36 เคยพบเห็นการทุจริตในหน่วยงานของตน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเอาทรัพย์สินราชการไปใช้ส่วนตัว (ร้อยละ 55.73) รองลงมาเป็นเรื่องการออกใบเสร็จเกินราคาจริง (ร้อยละ 10.79) การเรียกเงินใต้โต๊ะจากประชาชน (ร้อยละ 6.37) การทุจริตเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง (ร้อยละ 6.31) และการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ (ร้อยละ 5.82)

2) ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 21.6 เคยพบการทุจริตในหน่วยงานของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเอาทรัพย์สินราชการไปใช้ส่วนตัว (ร้อยละ 41.67) รองลงมาเป็นเรื่องการเรียกรับเงินจากผู้รับเหมา (ร้อยละ 24.36) และการสมยอมราคาหรือการฮั้วประมูล (ร้อยละ 7.69) และการออกใบเสร็จเกินราคาจริง (6.41%)

3) หน่วยงานที่พบการทุจริตภายในหน่วยงานของตนสูงสุด 5 ลำดับแรก กระทรวงพัฒนาสังคมฯ (ร้อยละ 43) สำนักงานพระพุทธศาสนา (ร้อยละ 40) กระทรวงวัฒนธรรม (ร้อยละ 38) กระทรวงมหาดไทย (ร้อยละ 33) และอีก 3 หน่วยงานที่ร้อยละเท่ากัน (ร้อยละ 32) ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ดร.มานะ"ชงสารพัด ข้อเสนอป้องกัน โกงงบ 4 แสนล้าน

‘มานะ’ชงแก้ระเบียบ 3 คดีใหญ่ ต้องใช้ที่ประชุมตุลาการ

เปิดรายงาน ครม. "ข้าราชการ" ขอเพิ่มค่าโทร-ค่าเน็ต ถ้าจะให้ Work From Home

4) ประเภทการทุจริตที่พบอันดับ 1 และ 2 ใน “ทุกหน่วยงาน” คือ การใช้ทรัพย์สินทางราชการในเรื่องส่วนตัวและการออกใบเสร็จเกินราคาจริง

 

5) การเรียกรับเปอร์เซ็นต์จากผู้รับเหมาและการฮั้วประมูลจะพบมากในกระทรวงคมนาคม การทุจริตการสอบเลื่อนตำแหน่งพบในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง ส่วนการเรียกเงินใต้โต๊ะพบมากในกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง

6) หน่วยงานที่มีข้าราชการออกมาแจ้งเบาะแสน้อยที่สุด 5 ลำดับ ได้แก่ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน (ร้อยละ 4) กระทรวงมหาดไทย (ร้อยละ 5) กระทรวงต่างประเทศ (ร้อยละ 7) กระทรวงการคลัง (ร้อยละ8) และกระทรวงเกษตรฯ (ร้อยละ 9)

7) ข้าราชการในส่วนกลางมองว่า สนง. ป.ป.ท. มีความเป็นอิสระทางการเมืองและประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่า สนง. ป.ป.ช. อย่างชัดเจน

8)สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดูเหมือนมีเรื่องร้องเรียนค่อนข้างน้อย เพราะมีการไกล่เกลี่ยกันเองในหน่วยงานระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้กระทำผิด โดยมองว่าเป็นเรื่องทุจริต เล็กน้อยเช่น การเบิกเบี้ยเลี้ยง

จากประสบการณ์ผมมองว่าประเด็นที่ 7 ยังมีข้อเท็จจริงต้องถกเถียงกันอีกมากและผมขอยืนเคียงข้างข้าราชการ ป.ป.ช. ทุกคน ส่วนประเด็นที่ 8 ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของผลการวิจัยนี้

กล่าวโดยสรุป วันนี้คอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องแอบซ่อน ลักกินขโมยกินอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านและข้าราชการด้วยกันเองต่างรู้เห็น แล้วทุกคนก็ทนใช้ชีวิตอยู่กับมัน ขึ้นอยู่กับว่า ใครได้ ใครเสียอะไร

คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสรุปคือ ให้ปรับปรุงกลไกการแจ้งเบาะแสในองค์กร การปกป้องคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ กำหนดให้การเรื่องต่อต้านทุจริตเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ยกระดับการปฏิบัติงานขององค์กรอิสระและหน่วยงานป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน

ผมเห็นเพิ่มเติมว่า แนวทางแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระบบราชการ (Bureaucratic Corruption) ที่ได้ผลคือ การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบงานที่บังคับให้หน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้อย่างจริงจัง การใช้มาตรการทางปกครองและวินัยที่รวดเร็วโดยไม่รอผลการสอบสวนของ ป.ป.ช. หรือ สตง. สำคัญที่สุดคือผู้นำของรัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ปากว่าตาขยิบ

งานวิจัยทุน สกสว. ในโครงการสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน เรื่อง “ราชการไทยไร้คอร์รัปชัน: การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแจ้งเบาะแสการทุจริต” จัดทำโดย 1. ผศ.ดร. วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ ม.สงขลานครินทร์ 2. ดร. อังศุธร ศรีสุทธิสอาด ม.หอการค้าไทย, มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ข้าราชการตัดสินใจว่าจะร้องเรียนหรือไม่ เมื่อพบเห็นคอร์รัปชันในหน่วยงานของตน