โลกกระอักข้อมูลลับ ปปง.สอบเชิงลึก16คนไทย/พิษ‘ปานามาเปเปอร์ส’

12 เม.ย. 2559 | 09:30 น.
ผู้นำหลายชาติกระอักพิษ “ปานามา เปเปอร์ส” นายกฯไอส์แลนด์ตกเก้าอี้รายแรก ขณะอีกหลายชาติทั้ง “อังกฤษยูเครน ปากีสถาน” กำลังถูกข้อมูลไล่ล่า นานาชาติเร่งล้อมคอกกันเลี่ยงภาษี-ฟอกเงิน “ปูติน” จวกกลับเป็นแผนทำลาย บาร์ซ่ายุ “เมสซี่” ฟ้องกลับ ในไทยตื่นไม่แพ้กัน ปปง.ผนึกหน่วยงานรัฐ สอบเชิงลึก 16 รายชื่อเอี่ยว ไม่ฟันธงฟอกเงิน แต่เชื่อเลี่ยงภาษีโดยถูกกฎหมาย ขุนคลังลั่นรอข้อมูลปปง.ก่อนสรุปโทษ

จากกรณีเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ ICIJ (The International Consortium of Investigative Journalists ) นัดเครือข่ายทั่วโลก เผยแพร่ข้อมูลจากบริษัท มอสแซค ฟอนเซกา ในประเทศปานามา เอกสารลับปานามา หรือปานามา เปเปอร์ส จำนวน 11.5 ล้านฉบับ (หรือคิดเป็นข้อมูล 2.6 เทราไบต์) เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โดยเปิดข้อมูลชื่อผู้ขอตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (ออฟชอร์ คัมปะนี) จำนวนหลายร้อยคน ซึ่งมีทั้งผู้นำประเทศ นักธุรกิจใหญ่ คนดังระดับโลกในแวดวงต่าง ๆ โดยในจำนวนนี้มีผู้นำ 12 ชาติ จุดประกายการขุดคุ้ย เปิดโปง จนถึงชุมนุมกดดัน ระบาดไปทั่วโลก พร้อมกับปลุกกระแสล้อมคอกการเลี่ยงภาษี-ฟอกเงินในระดับนานาชาติรวมทั้งในไทย นั้น

 นายกฯไอส์แลนด์ตกเก้าอี้

บุคคลสำคัญระดับผู้นำรัฐบาลที่โดนพิษเอกสารลับ ปานามา เปเปอร์ส พ่นใส่จนดับทางการเมืองไปแล้วเป็นคนแรก คือ นายซิกมุนเดอร์ เดวิด กุนลอกสัน นายกรัฐมนตรีไอส์แลนด์ ที่ถูกประชาชนชุมนุมขับไล่หลุดจากตำแหน่งไปเมื่อต้นสัปดาห์ โทษฐานที่มีชื่อปรากฏในเอกสารลับดังกล่าว แม้แรก ๆกุนลอกสันจะยืนยันเสียงแข็งไม่ยอมสละตำแหน่ง แต่ถูกดดันอย่างหนักสุดท้ายต้องยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

เขายังปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ต้องจำนนต่อข้อเท็จจริงที่ทำให้เขาเสื่อมเสียภาพลักษณ์ในฐานะผู้นำประเทศ เมื่อปานามา เปเปอร์ส ระบุว่า ทั้งตัวเขาเองและภรรยาลงทุนนับล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในบริษัทออฟชอร์ที่ถือหุ้นในธนาคารไอส์แลนด์ 3 แห่งที่ล้มละลายในปี 2551 (ช่วงวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในไอส์แลนด์ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง) ข้อมูลดังกล่าวทำให้กุนลอกสันถูกมองว่า ฉกฉวยประโยชน์จากการล่มสลายของระบบการเงินของประเทศ ในการช้อนซื้อหุ้นธนาคารดังกล่าว

ขณะที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ถูกกดดันอย่างหนัก เนื่องจากนายเอียน บิดาที่เสียชีวิตแล้วของเดวิด มีชื่อปรากฏเป็นลูกค้าผู้ใช้บริการของบริษัท มอสแซค ฟอนเซกาฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีให้กับบริษัท แบลร์มอร์ โฮลดิ้งส์ฯ กองทุนเพื่อการลงทุนที่พ่อของเดวิดเป็นเจ้าของ แม้จะไม่มีชื่อของนายเดวิด คาเมรอน ในกรณีเอกสารลับปานามา เปเปอร์ส แต่การที่บริษัทพ่อของเขาพัวพันการหลีกเลี่ยงภาษี ในยามที่รัฐบาลอังกฤษกำลังใช้นโยบายรัดเข็มขัด ตัดงบใช้จ่ายภาครัฐหลายด้านโดยอ้างว่ารัฐจำเป็นต้องใช้รายได้จากภาษีอากรอย่างประหยัดรัดกุม จึงเป็นเรื่องที่เสื่อมเสีย

เมื่อสื่อมวลชนถามความเห็นของเขาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เดวิดตอบว่า เขาเองไม่มีหุ้น ไม่มีกองทุนออฟชอร์ และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งนั้นในเรื่องฉาวนี้" นักวิจารณ์มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีต่อเขาในฐานะผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม ที่กำลังต้องการเสียงสนับสนุน ในการทำประชามติเกี่ยวกับการนำอังกฤษออก (หรือไม่ออก) จากสหภาพยุโรปในเร็ว ๆ นี้

 ผู้นำยูเครน-ปากีฯเจอด้วย

ที่ยูเครนก็ร้อนระอุ เมื่อเปโตร โปโรเชนโก ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียวของบริษัท ไพรม์ แอสเซ็ท พาร์ทเนอร์ส ลิมิเต็ดฯ ที่จดทะเบียนจัดตั้งที่เกาะบริติช เวอร์จิน โดยบริษัท มอสแซค ฟอนเซกาฯ ในปี 2557 (ซึ่งเป็นปีที่กองทัพรัสเซียเข้าบุกดินแดนภาคตะวันออกของยูเครน) ปัญหาของโปโรเชนโกเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ เขาอาจเจอข้อกล่าววหาปิดบังซุกซ่อนสินทรัพย์ และหลีกเลี่ยงการเสียภาษี แม้ว่าจะทำโดยถูกกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียในฐานะผู้นำประเทศ ขณะที่ประชาชนยังคงเดือดร้อน รัฐบาลเองก็ยังต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศและรีดภาษีประชาชน กระนั้นก็ตาม โฆษกของเขาออกมาแก้ต่างว่า กองทุนและบริษัทออฟชอร์ของโปโรเชนโกไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองในยูเครนแต่อย่างใด

ด้านนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ของปากีสถาน ก็กำลังร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะมีชื่อของบุตรชาย-หญิง 3 คน ปรากฏหราในเอกสารลับปานามา โดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทออฟชอร์ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในอังกฤษ ตอนนี้นายกฯชารีฟ กำลังถูกพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหลักฐานและไต่สวนในเรื่องสินทรัพย์ของเขาที่อยู่ในต่างประเทศ

 ตื่นล้อมคอก"หนีภาษี-ฟอกเงิน"

เว็บไซต์ของ ICIJ องค์กรสำคัญที่เข้ามาตรวจสอบและตีแผ่ประเด็นฉาวครั้งนี้ รายงานข้อมูลล่าสุดว่า นอกเหนือจากไอส์แลนด์แล้ว อีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีรายชื่อบุคคลสำคัญ บริษัทเอกชน หรือผู้มีชื่อเสียง เข้าไปเกี่ยวข้องหรือปรากฏในปานามา เปเปอร์ส ต่างกำลังตรวจสอบและไต่สวนคดี เกี่ยวกับความเกี่ยวพันและการดำเนินธุรกิจออฟชอร์ของบุคคลเหล่านั้น

อาทิ ที่สหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยว่ากำลังศึกษาเอกสารปานามา เพื่อหาหลักฐานการกระทำผิด นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้ออกมาระบุว่า รับรู้ถึงกรณีฉาวนี้แล้ว ด้านนายไฮโก มาส รัฐมนตรียุติธรรม เยอรมนี ประกาศแผนขจัดปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี และการกระทำความผิดทางการเงิน ด้วยการนำระบบจดทะเบียนใหม่ระดับชาติมาใช้ ซึ่งจะยุติการจดทะเบียนบริษัทที่ไม่ปรากฏชื่อเจ้าของกิจการ (anonymous ownership)

ส่วนที่อังกฤษ กระทรวงการคลังและภาษี ให้คำมั่นว่าจะจัดการด้วยมาตรการที่เหมาะสมและฉับไว หากมีการกล่าวหาและร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีปานามา เปอเปอร์ส ขณะนี้ทางกระทรวงกำลังข้อข้อมูลรายละเอียดจากสื่ออยู่ เวลาเดียวกันกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ประกาศตรวจสอบคดีนี้อย่างเป็นทางการ โดยประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลอง กล่าวว่า ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า หากมีการให้ข้อมูลออกมาว่าบุคคลหรือบริษัทของฝรั่งเศสเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และถ้าจำเป็นก็จะมีการดำเนินไต่สวนคดี ขณะเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ขึ้นบัญชีดำประเทศปานามาในฐานะแหล่งหนีภาษีอีกครั้ง

ขณะที่สำนักงานกำกับดูแลเรื่องภาษี ออสเตรเลีย ยืนยันว่าจะตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับลูกค้าสัญชาติออสเตรเลีย ของบริษัท มอสแซค ฟอนเซกา ที่ถูกเอ่ยถึงในปานามา เปเปอร์ส จำนวน 800 ราย เช่นเดียวกันกับหน่วยงานตรวจสอบด้านนี้ของสเปน ออสเตรีย และเบลเยียม

 ปูตินสวน"แผนการทำลาย"

ด้าน ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แถลงปฏิเสธความเกี่ยวข้องของปูตินในเรื่องนี้ โดยระบุว่าเป็นความพยายามดึงปูตินเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างภาพให้ปูตินดูเป็นคนเลวร้ายน่ากลัว โฆษกยังกล่าวหาสื่อที่ตีแผ่ขยายความเรื่องนี้ว่า กำลังฉวยโอกาสบั่นทอนเสถียรภาพของรัสเซีย ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง รวมทั้งปฏิเสธรายงานที่เปิดเผยว่า ภรรยาของเขามีชื่อถือหุ้นในบริษัทออฟชอร์ที่จดทะเบียนอย่างลับ ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของ ICIJ ที่เกาะติดกรณีปานามา เปเปอร์ส ได้ตีพิมพ์รายงานข่าวว่า เครือข่ายบริษัทและเงินกู้จากแหล่งออฟชอร์ราว 2 พันล้านดอลลาร์ฯ กำลังนำร่องรอยไปถึงตัวปูติน แม้จะไม่มีชื่อเขาปรากฏในเอกสารลับปานามาก็ตาม ทั้งนี้ เพราะคนใกล้ชิดของเขา ซึ่งต่างมีฐานะอู้ฟู่ เข้าไปพัวพันในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะทำให้สมาชิกครอบครัวของปูตินได้รับผลประโยชน์ไปด้วย

 บาร์ซ่ายุเมสซี่ฟ้อง

ส่วนคนดังระดับโลกทั้งในวงการบันเทิงและวงการกีฬา ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดได้แก่ ลีโอเนล เมสซี่ นักฟุตบอลชื่อดังชาวอาร์เจนตินา ที่มาค้าแข้งในสเปน สังกัดสโมสรบาร์เซโลนา ทางสโมสรถือหางเมสซี่ โดยระบุจะให้การสนับสนุนเขา หากเมสซี่ต้องการฟ้องกลับผู้ที่ออกมาแฉ ว่าเขามีชื่อเกี่ยวพันในปานามา เปเปอร์ส เพราะธุรกรรมหลบเลี่ยงภาษี

 ปปง.สอบทางลับ 16 รายชื่อ

ในไทยก็ร้อนรนไม่แพ้กัน เมื่อศุกร์ที่ 8 เมษายน 2559 พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ว่า ปัจจุบันปปง.ได้ประสานการตรวจสอบข้อมูลไปยังเครือข่ายปปง.ทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ รวมถึงขอความร่วมมือกับ ICIJ และหนังสือพิมพ์ ซูสดอยช์ ไซตุง เพื่อยืนยันข้อมูลที่แท้จริงและทำการสืบสวนต่อไป

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นภายในพบว่า รายชื่อที่เปิดเผยและปรากฏในข่าว มีชื่อคนไทยจำนวน 21 รายชื่อ จากการตรวจสอบหลักฐานข้อมูลพบว่ามีเพียง 16 รายชื่อเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่มาจาก ICIJ ที่เผยแพร่ฐานข้อมูล offshore leaks มีนิติบุคคลและบุคคลรวม 780 รายชื่อ แยกเป็นรายชื่อบุคคลไทย 411 รายชื่อ บุคคลต่างชาติ 262 รายชื่อ นิติบุคคล 46 บริษัท และรายชื่อซ้ำ 61 รายชื่อ

อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างการรอข้อมูลยืนยันจากหน่วยงานที่ประสานงานไว้ ปปง.ก็ได้ทำงานสืบสวนคู่ขนานกันไปด้วยในทางลับ โดยจะโฟกัสในกลุ่ม 16 รายชื่อ แต่การสืบสวนจะทำภายใต้การไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากข้อมูลยังไม่แน่ชัดในเรื่องของฐานความผิด จึงไม่สามารถเรียกบุคคลที่ปรากฏชื่อมาสอบสวนได้

ประกอบกับปปง.ต้องเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นสามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ปรากฏการกระทำผิดแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถระบุชัดว่าเป็นการฟอกเงิน แต่ในทางปปง.จะเรียกว่า "วิธีการบริหารจัดการสินทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแบบถูกกฎหมาย" ดังนั้น หากไม่พบว่าเป็นการฟอกเงินก็ไม่สามารถเอาความผิดได้

“ตอนนี้เรายังเปิดเผยรายชื่อ 16 รายชื่อไม่ได้ เพราะต้องได้รับการยืนยันข้อมูลที่แน่ชัดก่อน ซึ่งกรอบเวลายังไม่แน่ชัด แต่ทางการปานามารับรู้แล้วอยู่ระหว่างการสืบสวนและหาข้อมูลให้ ส่วนรายชื่อที่ออก 16 รายชื่อนั้น มีทั้งอดีตข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง โดยสถานะส่วนใหญ่เป็นทั้งผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือผู้รับประโยชน์ทอดสุดท้าย”

 ผนึกหน่วยงานรัฐร่วมสอบ

รักษาการเลขาธิการปปง.กล่าวอีกว่า สำหรับหลักการตรวจสอบสืบสวนภายในโดยไม่ละเมิดสิทธิ ในช่วงระหว่างรอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อยืนยันนั้น เช่น ปปง.ไม่สามารถขอสเตตเมนต์ (รายละเอียดด้านการเงิน) ของบุคคลนั้นได้ แต่สามารถขอตรวจสอบธุรกรรมการเงินที่น่าสงสัยได้ โดยขณะนี้ได้ประสานงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการอนุญาต เนื่องจากธปท.เป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งหมด หรือหากมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทางปปง.ก็จะมีการตรวจสอบในการซื้อขายหุ้น โดยขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหากมีการกระทำผิดในเรื่องของภาษีจะเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรเป็นผู้ตรวจสอบความผิด แต่หากมีข้อมูลยืนยันชัดเจนจากหน่วยงานที่ประสานงานไว้ และภายในมีการตรวจสอบว่ามีความผิดมูลฐาน ปปง.จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและยึดทรัพย์ทันที

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีรายชื่อคนไทย 21 รายซึ่งได้จดทะเบียนและก่อตั้งบริษัทในต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าออฟชอร์ บิสิเนส (offshore business ) ว่าอาจเกี่ยวข้องในเรื่องของภาษีซ้อน อย่างไรก็ดีการออกไปตั้งบริษัทหรือเปิดธุรกิจในต่างประเทศ คงไม่สามารถไปเรียกเก็บภาษีได้อยู่แล้ว หากเปิดอยู่ในประเทศที่มีสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย

 "อภิศักดิ์" รอ ปปง.สรุป

ทั้งนี้ 21 รายชื่อไทย กรมสรรพากรซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการเสียภาษีได้เข้าไปดูแลอยู่แล้ว ว่ามีการหลบเลี่ยงหรือไม่ แต่โดยปกติแล้วการจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ยิ่งเป็นธุรกิจที่มีการค้าขายกับต่างประเทศ เช่น กรณีที่เข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปซื้อบริษัทในต่างประเทศ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทเหล่านี้ก็จะไม่ใช้บริการกับบริษัทที่ก่อตั้งภายในประเทศไทย แต่จะใช้บริษัทที่ตั้งในต่างประเทศเข้าไปซื้อกิจการแทน เพื่อบริหารต้นทุนทางภาษี เพราะการนำเงินเข้า-ออก จะต้องเสียภาษี และยังมีต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน จึงใช้เป็นที่พักเงิน ซึ่งเป็นหลักสากลที่การค้าหรือธุรกิจใหญ่ ๆทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ถือเป็นการหลบเลี่ยงภาษี

ทั้งนี้ส่วนตัวไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบ คงต้องรอข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่งข้อมูลมาก่อน

ส่วนกรณีที่มีรายชื่อคนไทยกว่า 400 รายที่ทำธุรกรรม ออฟชอร์ บิสิเนส และมีบุคคลนามสกุลเดียวกับตน คือนายวรเทพ ตันติวรวงศ์ ตนยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เพราะโดยปกติแล้วนามสกุลของตนก็มีคนใช้เหมือนกันเป็นจำนวนมาก "

 ตั้ง IHQ ดึงบริษัทกลับไทย

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุข้อเท็จจริงหรือชี้ชัดว่า 21 รายชื่อจะใช้เวลาสอบนานแค่ไหน แต่เชื่อว่าจะมีการส่งข้อมูลเข้ามา เนื่องจากไทยได้มีการทำสัญญาร่วมกันระหว่าง ปปง.ใน 186 ประเทศในเรื่องของการส่งข้อมูลทางการเงินของบุคคลและประเมินจากแนวโน้มฐานความผิด แบ่งได้เป็น 3 ด้านคือความผิดฐานการฟอกเงิน , ความผิดฐานหลบเลี่ยงภาษี รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการทำธุรกิจตามปกติ ไม่มีความผิด หากได้ข้อมูลจากครบวงจรแล้ว กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 5 ปี

" ปปง. จะต้องเป็นคนตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเสียก่อนว่ามีความผิดฐานการฟอกเงินหรือไม่ถ้ามีก็สามารถยึดทรัพย์ได้ทันที แต่หากเป็นความผิดฐานหลบเลี่ยงภาษีหรืออื่นๆสามารถส่งข้อมูลมาให้สรรพากรตรวจสอบ อย่างไรก็ดีหลังจากที่ไทยมีการแก้กฎหมายในเรื่องของการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยหรือ IHQ แล้ว ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทกลับมาจดทะเบียนในไทยแล้ว 38 ราย ธุรกิจไม่จำเป็นต้องหลบไปเปิดบริษัทในต่างประเทศอีก แตกต่างกับที่ผ่านมา ที่มักมีข่าวว่าคนไทยจะไปตั้งบริษัทในหมู่เกาะ บริติช เวอร์จิน หรือที่สิงคโปร์ กันมาก"

 ตลท.รอข้อเท็จจริงก่อนสอบถามบจ.

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่าขณะนี้ตลท.ยังไม่ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และบจ.ที่มีรายชื่อใน“ปานามา เปเปอร์ส” เนื่องจากต้องรอความชัดเจนการตรวจสอบข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ อาทิจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสรรพากร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่ามีความผิดหรือไม่ และภายหลังได้รับข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอย่างไรต่อ บจ. แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคาหุ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559