อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินในเอเซีย ทั้งริงกิตและรูเปียห์

03 ก.ค. 2563 | 12:16 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาดอ่อนค่าเล็กน้อย ขณะนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและบอนด์ไทยเพียงเล็กน้อยที่ 383.71 ล้านบาท และ 10 ล้านบาทตามลำดับ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาดอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินริงกิต-รูเปียห์-ตลาดกังวลธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ- สัปดาห์หน้ากรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท คาดไว้ที่ 30.80-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ –จับตาการระบาดซ้ำจากCOVID-19ในสหรัฐและสัญญาดึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาดในประเทศวันนี้ที่ระดับ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ(วันที่ 3 กรกฎาคม 2563) อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินบางส่วนในเอเชีย อาทิ เงินริงกิตของมาเลเซีย และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย   ในส่วนของเงินรูเปียห์มีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากความกังวลว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ความเสี่ยงที่โควิด-19 จะระบาดซ้ำในสหรัฐฯ และสัญญาณตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนในประเด็นฮ่องกง อาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

สถานการณ์ฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยเพียงเล็กน้อยที่ 383.71 ล้านบาท และ 10 ล้านบาทตามลำดับ

ค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนจากข้อมูลของธนาคาร 10 แห่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โดยธปท. อยู่ที่ -1.14 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ 3.17 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า คาดไว้ที่ 30.80-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ตลอดจนปมขัดแย้งในประเด็นฮ่องกงระหว่างจีน และนานาประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน และรายงานนโยบายการเงินซึ่งจะมีการเปิดเผยมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของธปท. ด้วยเช่นกัน