บลูบิคกางแผนครึ่งหลัง หนุนธุรกิจ-รัฐฟื้นตัว

21 ก.ค. 2563 | 09:40 น.

 

บลูบิค กรุ๊ป เปิด 4 ปัจจัยสร้างโอกาส ชี้ วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดช่องว่างการตลาด ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ แนะแนวทางค้นหาโอกาสและทางรอดด้วยเทคนิคลดต้นทุน การปรับใช้เทคโนโลยี เพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ และสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจผ่านพันธมิตร

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจประเทศไทย จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) พบว่า GDP ปี พ.ศ. 2563 ของทั้งโลกมีโอกาสติดลบ 4.9% และประเทศไทยมีโอกาสติดลบ 7.7% ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ลดลงในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกันยังเปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่ได้พลิกวิกฤติสู่โอกาสจากช่องว่างทางการตลาดที่เกิดขึ้น หากสามารถปรับตัวรับมือกับวิกฤตได้

“จากวิกฤติพบว่ามีธุรกิจบางส่วนที่หยุดชะงัก แต่ยังมีธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถคว้าโอกาสและขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ โดยสรุปโอกาสทางธุรกิจออกเป็น 4 ปัจจัย ดังนี้ 1) ช่องว่างทางการตลาดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถแจ้งเกิดได้ ประกอบกับอุปสงค์ใหม่ที่เกิดขึ้น 2) ดิจิทัล ดิสรัปชัน เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในระยะยาว เมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการจึงมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น ไร้ข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ 3) การขยายธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม เป็นการขยายโอกาสเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเพิ่มฐานลูกค้าระหว่างผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม เกิดเป็นความร่วมมือที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจได้อย่างหลากหลายมิติมากขึ้น 4) กฎหมายบังคับใช้ใหม่ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจกรรม พร้อมทั้งสามารถเตรียมความพร้อมในการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจ

 

 

นายพชรกล่าว เพิ่มเติมว่า จากปัจจัย ข้างต้น การค้นหาโอกาสและทางรอดในยุคเศรษฐกิจผันผวน คือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและภาครัฐฯให้ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการระบาดระลอก 2 ฉะนั้นองค์กรต้องเตรียมความพร้อม ด้วย 4 แนวทาง คือ 1) ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S - Curve) หรือสร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation) องค์กรควรเตรียมธุรกิจให้พร้อมในช่วงนี้ เพื่อหวังสร้างผลกำไรยามเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ เพราะหากธุรกิจสามารถอยู่รอดและมีกลยุทธ์ที่ดี จะกลายเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งที่น่าจับตา,  2) นำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้ (Digital Platform) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นช่วงชะลอตัวของภาคธุรกิจ ถือเป็นโอกาสในการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการทำงานจากที่พักอาศัย

 

บลูบิคกางแผนครึ่งหลัง หนุนธุรกิจ-รัฐฟื้นตัว

พชร อารยะการกุล

 

3) ลดต้นทุน (Cost) และเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) องค์กรควรแปลงค่าใช้จ่ายจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สู่ต้นทุนแปรผันตามรายได้ (Variable Cost) ทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่สามารถเลือกใช้บริการได้ตามต้องการเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) องค์กรควรขยายโอกาสในการทำธุรกิจและปรับกลยุทธ์ในการขยายกิจการทั้งแนวตั้งและแนวนอน

 

 

สำหรับแนวทางการให้บริการครึ่งปีหลังบลูบิค เน้นให้ความช่วยเหลือองค์กรธุรกิจและภาครัฐฯ ในการวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลักข้างต้น ประกอบด้วย 1) การลดต้นทุน (Cost Reduction) และเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ (Flexibility) 2) การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ (Business Transformation) และการหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S - Curve) 3) การสร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation) และ 4) การส่งเสริมการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนด (Compliance Services) เช่น การบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าให้เป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,589 หน้า 16 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม 2563