ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

02 ก.ค. 2563 | 07:39 น.

ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังรัฐปลดล็อกเปิดกิจการ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย หอการค้าไทยและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  ศูนย์ฯได้สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,241 คน เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิ.ย.2563 พบว่า อยู่ที่ระดับ 49.2 ดีขึ้นจากระดับ48.2 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังอยู่ในช่วงของระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจ 261 เดือนหรือ 21 ปี 9เดือนตั้งแต่เดือนต.ค.2541 เป็นต้นมา  โดยความเชื่อมั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากรัฐบาลออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4  ต่อเนื่อง การยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว  เพื่อให้กิจการ ร้านค้า กลับมาดำเนินธุรกิจได้  หรือ REOPENภายใต้รูปแบบวิถีชีวิตใหม่  รวมทั้งมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19   ส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก  ธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งคาดว่า ผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายออกไปอย่างน้อย3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์โควิด-19   คลายตัวและมีการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีจะมีการปรับครม. เปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจ และปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ

 “แม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม แต่ยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี หลายรายการด้วยกัน แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานถดถอยลง และความกังวลกับการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ทำให้ศูนย์ฯคาดกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีติดลบ 8-10 %  ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีแรกของปี 2564 หากสถานการณ์โควิด-19  คลี่คลาย”

ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ในส่วนของไตรมาส 2 คาดว่า จีดีพีจะติดลบหนักสุดอยู่ที่ ติดลบ10-15 %  เนื่องจากตรงกับช่วงล็อคดาวน์ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบเต็ม และเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด ทั้งยอดขายสินค้า ยอดการใช้จ่ายของประชาชน และการท่องเที่ยวแทบน้อยมาก นอกจากนี้ประชาชนยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการซื้อบ้านหลังใหม่  ซื้อรถจักรยานยนต์ รถยนต์คันใหม่  สินค้าค้าคงทนอย่างไรก็ตามภาพรวมคาดว่าประชาชนจะพร้อมกลับมาใช้จ่ายปกติจากนี้ไปอีก 1 ปี

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จากการสำรวจพบว่า  ประชาชนให้ความสนใจเข้าลงทะเบียนการใช้สิทธิ์มาตรการเราไปเที่ยวกัน น้อยมาก ซึ่งน่าจะเป็นผลจากความกังวลเรื่องโควิด-19  เศรษฐกิจ หน้าที่การงาน  รวมถึงความยุ่งยากในการลงทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ประชาชนไม่สนใจในการลงทะเบียนในโครงการดังกล่าวมากนัก     

“ต้องการให้รัฐบาลนำเงินในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการนำเงิน 4 แสนล้านเข้ามาสู่ระบบโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีความล่าช้า  ขณะเดียวกันผลักดันให้เอสเอ็มอีสามารถเข้ามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลน ด้วยการใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาช่วยเสริม เพราะขณะนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากเอสเอ็มอีว่ายังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ ทั้งนี้หากไม่มีการนำธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาช่วยเสริมก็จะทำให้เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องทางการเงินได้”

นอกจากนี้ศูนย์ฯยังได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา โดยสำรวจประชาชนจำนวน 1,234 ตัวอย่างพบว่า ประชาชนจะใช้จ่ายเงินในช่วงนี้ 5,296 ล้านบาท ลดลง 21 %  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการใช้จ่าย 6,704 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำสุดในรอบ 5ปี   โดยบรรยากาศในปีนี้ไม่คึกคัก เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่แย่ลง ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19   มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งใช้เงินในการทำบุญเฉลี่ยคนละ 625 บาทต่อคน