ทิสโก้เปิด 4 ปัจจัยลบ กดดันลงทุนครึ่งปีหลัง

02 ก.ค. 2563 | 07:19 น.

บล.ทิสโก้คาด หุ้นไทยครึ่งปีหลังยังผันผวน จาก 4 ปัจจัยลบ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่, ความขัดแย้งจีน - สหรัฐฯ, ความเสี่ยง บจ.ผิดนัดชำระหนี้ และราคาน้ำมันผันผวน

ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังผันผวนต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของ การแพร่เชื้อโควิด-19 รอบ2  ความขัดแย้งสหรัฐ-จีน  แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ และ ความผันผวนของราคาน้ำมัน   

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัดเปิดเผยว่า ทิศทางในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวนสูงจาก 4 ประเด็นหลักคือ ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ (รอบ2) ในต่างประเทศ อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้าออกไป หรือต่ำกว่าที่ประเมินไว้

ทิสโก้เปิด 4 ปัจจัยลบ กดดันลงทุนครึ่งปีหลัง

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่อาจกลับมาปะทุขึ้น, ในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสที่บริษัทต่างๆ จะผิดนัดชำระหนี้ หรือล้มละลาย หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ สิ้นสุดลง และความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield)

 

สำหรับหุ้นเด่นในเดือนกรกฎาคมแนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการสัญจรที่ฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ การเปิดเทอม การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ คือ BEM และ PTG และหุ้นแนวโน้มกำไรไตรมาส 2 ปี 2563 ออกมาดี มีเงินปันผลระหว่างกาล แนะนำ CBG, DCC, SCC และ TVO ขณะที่ แนวรับหุ้นไทยในเดือนกรกฎาคม มีแนวรับแรกอยู่ที่ 1,305 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,300, 1,280 จุด และ 1,260 จุด  ส่วนแนวต้านแรกของหุ้นไทยอยู่ที่ 1,350 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,380 จุด

 

"ดัชนีหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 แกว่งตัวผันผวนมากถึง 630 จุด หรือกว่า 40% โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,604 จุดเมื่อวันที่ 3 มกราคม ก่อนปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดที่ 969 จุดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม นอกจากนี้ยังได้เห็นการประกาศใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ถึง 3 ครั้งในเดือนมีนาคมหลังดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงเพราะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19"

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่รอจังหวะเข้าซื้อหุ้นไทยนั้นมองว่ากรอบดัชนีที่ 1,250-1,300 จุดเป็นระดับดัชนีที่ไม่แพง และเป็นจังหวะที่น่าทยอยสะสมอีกครั้ง

 

ขณะที่ธีมหุ้นเด่นที่น่าลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังคือ กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยจากไวรัสโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงต่ำหากเกิดการแพร่ระบาดระลอก2 รวมทั้งมีความปลอดภัยจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่อาจกลับมาปะทุขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี คือ BAM, CBG และ CPALL รวมถึงหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินชีวิตแบบ New Normal แนะนำ TRUE และแนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่คาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แนะนำ CK และ SCC

นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มการลงทุนในวิถีปกติใหม่(New Normal) ซึ่งหลังจากนี้นักลงทุนอาจต้องยอมรับราคาหุ้นที่แพงขึ้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และคาดหวังผลตอบแทนที่ลดลง เพราะคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกน่าจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำมาก และอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) เพื่อประคับประคองและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สินทรัพย์ลงทุนหลักของโลกแพงขึ้นทั้งตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น

 

“การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยาวนาน ส่งผลให้แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกลดต่ำลงจนบางประเทศถึงขั้นกลับมาติดลบอีกครั้ง นอกจากจะสะท้อนราคาพันธบัตรอยู่ในระดับสูงมากแล้ว อีกนัยหนึ่งยังสะท้อนว่า “เงินไม่มีที่ไป” ซึ่งมองว่า จะเป็นการบีบบังคับให้มีความจำเป็นต้องโยกเม็ดเงินออกจากตลาดพันธบัตรสู่ตลาดสินทรัพย์อื่นๆ ด้วยการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม (Search for Yield)"

โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากแรงขับเคลื่อนด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต้องยอมรับราคาหุ้นที่แพงขึ้น ยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ไปพร้อมๆ กับการคาดหวังผลตอบแทนที่ลดลง