“พรเพชร”การันตี“สุชาติ ตระกูลเกษมสุข”เป็นป.ป.ช.ได้

02 ก.ค. 2563 | 04:26 น.

“ประธานวุฒิสภา”แจง “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข”ไม่มีลักษณะต้องห้ามนั่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว

วันนี้(2 ก.ค.63)  นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้แจกเอกสารชี้แจงกรณีวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กับสื่อมวลชน

 

เอกสารดังกล่าวระบุว่า 1.ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการสรรหาฯ มีหนังสือของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ สว(ปปช) เลขที่ 0008/(ส)390 ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2563 ถึงประธานวุฒิสภา เรื่อง การยืนยันคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายสุชาติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตาแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตอบข้อหารือของประธานวุฒิสภา โดยมีข้อความสำคัญว่า คณะกรรมการสรรหาฯ ยืนยันมติของคณะกรรมการสรรหาในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2563  โดยคณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาและมีมติว่า กรณีการเคยดำรงตำแหน่งของนายสุชาตินั้น ไม่ถือว่านายสุชาติ เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแต่ประการใด

 

ดังนั้น นายสุชาติ จึงเป็นผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 11(18) และตามมาตรา 16 ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาฯ ให้เป็นที่สุด ดังนั้น กระบวนการพิจารณาและสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ของคณะกรรมการสรรหาฯ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  มาตรา 217 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 12 และมาตรา 13 ทุกประการ

 

2. ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการสรรหาฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2563 สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า กรณีปัญหาการวินิจฉัยคุณสมบัติของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่นั้น คณะกรรมการสรรหาในแต่ละชุดต่างทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความสุจริต ดังนั้น ประเด็นคือต้องดูว่าคณะกรรมการสรรหาเหล่านั้น ทำตามขั้นตอนและตามข้อกฎหมายหรือไม่ ถ้าคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดได้ทำตามอำนาจหน้าที่ของตนด้วยความสุจริตแล้วก็เป็นอันยุติ

 

ส่วนเรื่องการเปิดช่องให้มีการขัดแย้งกัน (ในเรื่องความเห็น และการวินิจฉัย) ได้นั้น เป็นปัญหาในเรื่องการออกแบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ ถ้ารอบคอบตั้งแต่แรก ต้องปิดช่องไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้

 

และ 3.ประธานวุฒิสภาได้ศึกษากฎหมายที่สำคัญ 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 อย่างละเอียดและรอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เพื่อที่จะหาข้อยุติในเรื่องที่ขัดแย้งในคำวินิจฉัยของกรรมการสรรหา แต่ละคณะที่มีความเห็นในบางประเด็นแตกต่างกัน แต่ไม่พบว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจประธานวุฒิสภาในการส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นใดเพื่อวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว


ดังนั้น ประธานวุฒิสภา จึงได้รับข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการตามขั้นตอน ในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเห็นจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป