ทช.ลุยงานก่อสร้าง 6 พันโครงการ ดันบุคลากรเพิ่มศักยภาพ

02 ก.ค. 2563 | 02:09 น.

ทช.เดินหน้างานก่อสร้าง 6 พันโครงการ วงเงินเกือบ 5 หมื่นล้านบาท คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 63-65 หลังวิศวกรขาดแคลนหนัก เร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากร 2 พันคนต่อเนื่อง

นายไกวัลย์ โรจนานุกูล  รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท  (ทช.) เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  ด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ว่า ขณะนี้ในปี 2563 มีโครงการที่ ทช.รับผิดชอบทั้งหมด 6,000 โครงการ วงเงินเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนในการก่อสร้าง ทั้งนี้มีโครงการที่ดำเนินการระยะสั้น ราว 60-90 วัน และโครงการระยะยาว ราว 2-3 ปี โดยจะต้องเร่งรัดการก่อสร้างให้ทันปีงบประมาณ 2563 ที่ใกล้จะสิ้นสุดภายในเดือน ก.ย.2563  คาดทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563-2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้พบว่าในปัจจุบันขาดแคลนวิศวกรด้านงานโยธาเป็นจำนวนมาก โดยมีวิศวกรของทช. ไม่ถึง 1,000 คน เนื่องจากรับภาระหนักในการคุมงาน ทำทุกอย่างทั้งตรวจแบบ ก่อสร้าง คุมงาน ทำมากกว่าที่วิศวกรทั่วไปจะดูแลงานปกติ 1-2 แห่ง แต่วิศวกรของ ทช. ดูแลทุกโครงการที่อยู่ในแขวงที่ตนรับผิดชอบ

 

อ่านข่าว ลุยขยายถนนสาย นม.1001-นครราชสีมา หนุนรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย

อ่าวข่าว ส่อพับ  8 โครงการ ไม่เอื้อแผนอีอีซี เฟส 2

จากการขาดแคลนวิศวกรนั้น ทำให้ทช.จำเป็นต้องพัฒนาวิศวกรเดิมที่มีอยู่และวิศวกรรายใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยทช.และ วสท. ได้ร่วมมือกันในด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม  เพื่อพัฒนาส่งเสริมการทำงานด้านวิศวกรรมให้กับบุคลากรทั้งในส่วนกลางและในระดับท้องถิ่น เนื่องจาก ทช.มีนโยบายพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบความปลอดภัยที่ยั่งยืนตามระบบสากลให้มีมาตรฐานเชิงลึกมากขึ้น โดยปัจจุบันมีถนนที่วิศวกรรมงานทางของทช.รับผิดชอบ ระยะทาง 5 หมื่นสายทาง ซึ่งเป็นการรับโอนมาจากวิศวกรรมโยธา ของ ทช. ซึ่งจะต้องตรวจสอบความปลอดภัยและแก้ไขปรับปรุงถนนให้สะดวกปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้เดินทาง

ทั้งนี้บุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม จะมีส่วนช่วยในการตรวจสอบงานทาง ซึ่งครอบคลุมในส่วนของถนนของ ทช.จำนวน 5 หมื่นสายทาง โดยจะเข้ามาช่วยตรวจสอบ อาทิ ความกว้างของถนน ขอบไหล่ทาง สัญญาณเตือนจรจา ตลอดจนเพื่อวิเคราะห์เครื่องมือ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่จะทำให้การใช้งานทางถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น

 

นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ขอบเขตของความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญในการยกระดับวิศวกรรมงานทางและพัฒนาผู้ตรวจสอบความปลอดภัยที่ยั่งยืนตามระบบสากล หรือ Road Safety Audit System โดยความร่วมมือครั้งนี้มีกรอบเวลา 3 ปี  คาดว่าจะสามารถพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็น 4 พันคน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 2 พันคน