TDPK เปิดมุมมองวิกฤติโควิด-19 แนะปรับการศึกษาแบบ New Normal

01 ก.ค. 2563 | 05:32 น.

ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดมุมมองวิกฤติโควิด-19 แนะภาคการศึกษาเร่งปรับตัวสู่การเรียนการสอนแบบ New Normal

    หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายในระยะ 4 ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น เปิดทางให้โรงเรียนบางแห่งกลับมาจัดการเรียนการสอนได้ ภาค การศึกษา จึงยิ่งต้องเร่งปรับตัว นับเป็นความท้าทายของทั้งสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ และนักเรียน ที่ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้อย่างรวดเร็วกับการศึกษาแบบ New Normal 

TDPK เปิดมุมมองวิกฤติโควิด-19 แนะปรับการศึกษาแบบ New Normal

     ดร. ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิตสาขากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนภาคการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายจากวิกฤติ โควิด-19 ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนของการศึกษาวิถีใหม่ เนื่องจากหลักสูตรนานาชาติต้องการให้ผู้เรียนได้รับความรู้ระดับสากล โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่ต่างประเทศมหาวิทยาลัยจึงได้เชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้งจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา มาสอนในบางวิชา อีกทั้งผู้เรียนยังมีชาวต่างชาติร่วมด้วยทั้ง ฝรั่งเศส จีน ไต้หวัน และกัมพูชา วิกฤติ โควิด-19 ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางมาสอนหรือกลับมาเรียนในไทยตามกำหนดได้  เทคโนโลยีจึงเป็นโอกาส ทำให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสาร หลักสูตรที่เน้นการนำกฎหมายมาปรับใช้เป็นโซลูชันในทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นการเรียนการสอบต้องมีการคิด วิเคราะห์และแลกเปลี่ยนกัน คือผู้สอนมีการให้ข้อมูลที่เตรียมมา ผู้รับได้ประมวลผล มีการถามกลับหากไม่เข้าใจ จะได้รู้ว่าผู้เรียนไม่เข้าใจตรงไหน ทำให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

   

     ทั้งนี้อีกส่วนที่สำคัญของการเรียนการสอน คือการวัดผลอย่างการสอบ เนื่องจากเป็นรูปแบบออนไลน์ จึงออกแบบการวัดผลตามสภาพความเป็นจริง เช่น การออกข้อสอบเป็นเชิงวิเคราะห์ หรือสามารถเปิดตำราสอบได้ เพราะในชีวิตจริง นักกฎหมายสามารถค้นข้อมูลได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการคุมการสอบในตอนแรกจะมีหลายโมเดลที่คิดไว้ เช่น การโทร หรือการเปิดกล้องมอนิเตอร์นิสิตผ่านคอมพิวเตอร์ แต่ในที่สุดการสอบของที่นี่ก็ไม่ได้ให้เปิดกล้อง เพียงแต่ต้องส่งข้อสอบภายในเวลา

     ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จึงยังบอกไม่ได้ว่าการเรียนผ่านออนไลน์จะมีศักยภาพเหมือนการมาเรียนแบบเดิมเต็มร้อย แม้แพลตฟอร์มออนไลน์จะมีฟังก์ชันที่เอื้อต่อการเรียนแบบสื่อสารสองทางซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เช่น การแชร์ข้อมูลออนไลน์  โพล หรือยกมือ แต่ก็อาจมีข้อจำกัด ดังนั้น อาจารย์จึงต้องปรับตัวและปรับคอนเทนต์แบบใหม่ เพื่อให้นิสิตสนใจการเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แน่นอนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ Disrupt หลักสูตรการเรียนการสอน เนื่องจากนิสิตต่างชาติที่ตัดสินใจมาเรียนที่นี่ อาจมีจุดประสงค์อื่นด้วย เช่น อยากได้ประสบการณ์ทำงาน การสร้างคอนเน็กชันและเครือข่าย เทคโนโลยีสามารถเติมเต็มตรงนี้ได้หรือไม่นั้นยังเป็นคำถาม  อย่างไรก็ตาม หากวิกฤติ โควิด-19 ยังคงอยู่ต่อไป การให้บริการด้านการศึกษาอาจต้องอยู่ในรูปแบบออนไลน์ หากปรับตัวได้ก็ถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยให้เข้าใจอะไรได้มากขึ้น 

          อย่างไรก็ตาม การศึกษา เป็นเรื่องของคนทุกคน แม้ว่าทรัพยากรของบางท่านอาจจำกัด ต้องยอมรับว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เร็วพอหรือคอมพิวเตอร์ที่ดี อาจไม่เท่าเทียมกัน แต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นต้องมีการช่วยเหลือกันไปเพื่อให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน เช่น การให้ยืมคอมพิวเตอร์ ให้ซิมการ์ดอินเทอร์เน็ต อย่างเช่นเมื่อก่อนได้มีการออกค่าย หรือการศึกษาทางไกล สิ่งเหล่านี้คือร่องรอยของความพยายาม ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่ทุกคนจะก้าวผ่านไปด้วยกัน