ฟันอาญา“ยิ่งลักษณ์”เด้ง “ถวิล เปลี่ยน” พ้นเลขาสมช. มิชอบ

01 ก.ค. 2563 | 02:35 น.

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด“ยิ่งลักษณ์” ใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ หลังใช้อำนาจโอนย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ไปเป็นที่ปรึกษาฯ เปิดทาง “เพรียวพันธ์” ขึ้นผบ.ตร. ส่งสำนวนให้ อสส.ฟ้องศาลฎีกานักการเมือง

 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

วันที่ 1 ก.ค.2563    นายนิวัติไชย เกษมมงคล  รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.)  ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ใช้อำนาจโอน นายถวิล  เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ 
             

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2554  ขณะนั้นนายถวิล   ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี  มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของประเทศ โดยเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงแห่งชาติ  ต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2554  ซึ่งเป็นวันอาทิตย์  " น.ส.ยิ่งลักษณ์"  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการทำเรื่องขอรับโอนนายถวิล  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ 

 

จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีบันทึกข้อความลงวันที่ 4 กันยายน 2554  ถึงนางสาวกฤษณา  สีหลักษณ์  ซึ่งดำรงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอความยินยอมรับโอนนายถวิล  มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ  และได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ถึงพลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ   


 ทั้งนางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ และพลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ต่างให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนดังกล่าว  และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ   กรณีดังกล่าวสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจพบว่าวันที่ 4 กันยายน 2554 เป็นวันอาทิตย์   ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ  จึงได้มีการแก้ไขบันทึกข้อความทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นวันที่ 5 กันยายน 2554 เป็นการแก้ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา 

นายถวิล  เปลี่ยนศรี

 

จากนั้นวันที่ 6 กันยายน  "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจร  และในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและลงมติรับทราบให้โอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ   จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์  ก็ได้มีคำสั่งให้นายถวิล  มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งดังกล่าวทันที  ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัด แล้วเสร็จภายใน 4 วัน

 

จากนั้นในวันที่ 4 ตุลาคม 2554  คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี  ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ    และในวันที่ 19 ตุลาคม 2554   "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการ วันที่ 30 กันยายน 2555  และเป็นเครือญาติของตนเอง   ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ในการประชุมครั้งที่ 5/2554  วันที่ 19 ตุลาคม 2554  ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ 

 

ในกรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ ที่ อ.992/2556 คดีหมายเลขแดงที่   อ. 33/2557 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล  จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเป็นการลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ลง  โดยไม่แสดงเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริง  ว่านายถวิล ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ  มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล  ซึ่งถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม  จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

 

อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งเป็นเครือญาติ  มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  การกระทำทั้งหมดมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และของประชาชน แสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น  ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต  การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้นายถวิล ได้รับความเสียหาย  เอื้อประโยชน์แก่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. 

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้ว เห็นว่าการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์  มีมูลความผิดทางอาญา  ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ  หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ  ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  โดยทุจริตตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1  ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192  

 

ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอื่น เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป  พร้อมให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์  ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 76