เดินหน้าโครงการ“พลังงานสร้างไทย”กระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน

30 มิ.ย. 2563 | 11:05 น.

ครม.รับทราบโครงการ “พลังงานสร้างไทย”กระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน คาดเกิดการลงทุนปี 63-64 มูลค่ากว่า 2.3แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานเกือบ 20,000 คน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ว่า ครม.รับทราบมาตรการช่วยเศรษฐกิจ “พลังงานสร้างไทย” ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สาระสำคัญ คือ การกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งดำเนินการใน 3 ด้าน คือ

1.การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่น ด้านการส่งเสริมสินค้าชุมชน ส่งเสริมการค้าขายผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดย กฟผ. และการจัดการ Living Community Market Place โดย ปตท. เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านช่องทางการจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์และสถานีบริการน้ำมัน  ด้านการท่องเที่ยว กระตุ้นและจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยว อาทิ โครงการท่องเที่ยวเขื่อน ของ กฟผ. ทั่วประเทศ และโครงการเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue Card ของ ปตท. และการพิจารณานำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ประโยชน์ โดยจัดโครงการห้องเย็น บริเวณสถานีไฟฟ้าย่อย และให้เกษตรกรนำผลิตมาเก็บรักษาและคิดค่าบริการในราคาถูก ตั้งเป้าภาคละ 1 แห่ง เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่า จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในปี 2563-2564 มูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 1,000 คน

2.ด้านพลังงานทดแทน โครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดำเนินการใน 3 ส่วน คือ โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องขนาดกำลังผลิตแห่งละ 3 เมกกะวัตต์ ที่ กฝผ. อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิง และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิง  โรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบ Quick win กำลังผลิตรวม 100 เมกกะวัตต์ โดยเชิญชวนผู้สนใจลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2563 และโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป กำลังผลิตรวม 600 เมกกะวัตต์ ที่จะเริ่มประกาศชวนชวนผู้สนใจภายในปี 2563 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ ภายในปี 2564

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อผลิตเชื้อเพลิง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ การส่งเสริมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar rooftop) การใช้ระบบ Blockchain เข้ามาช่วยในการซื้อขายน้ำมันปาล์มในภาคพลังงานทั้งระบบ ซึ่งจากการดำเนินการกังกล่าว คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและเกิดรายได้หมุนเวียนในปี 2563 -2564 กว่า 30,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน

3.ด้านนวัตกรรม เช่น การส่งเสริมและการระดมทุนแก่ผู้ประกอบการ Startup ที่มีศักยภาพโดย ปตท. ผ่านกลไกของบริษัท Innospace ซึ่งช่วยต่อยอดรายได้และเพิ่มมูลค่าของผู้ประกอบการ Startup ไทย การจัดตั้งInnovation Holding Company โดย กฟผ. เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมด้านไฟฟ้า เช่น สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น  การผลักดันการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ใช้ไฟฟ้า (E-Transportation) ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน ที่สร้างมูลค่าการลงทุนในปี 2563-2564 รวมกว่า 470 ล้านบาท เกิดการจ้างงงานกว่า 350 คน

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 200,000 ล้านบาท ผ่านโครงการที่สำคัญ เช่น การลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม  การลงทุนพัฒนาและปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าให้พร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) และศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการขายไฟฟ้าในอนาคต  ซึ่งจะเกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน