ผู้ว่าธปท. ขอคนไทย “การ์ดอย่าตก”

28 มิ.ย. 2563 | 12:56 น.

“วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ วิกฤติรอบนี้คาดการณ์ยาก เหตุเกิดขึ้นทั่วโลก วอนคนไทยการ์ดอย่าตก เหตุเครื่องมือมีจำกัดและ้ลำบากขึ้น หากโควิดระบาดรอบ2

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ใน BOT พระสยาม MAGAZINE เล่มล่าสุด โดยระบุว่า สิ่งที่ต้องตระหนักคือ จะปล่อยให้ “การ์ด (guard) ตก” ไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าเกิดการระบาดอีกระลอก  จะมีข้อจำกัดและใช้ลำบากมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรของภาครัฐ ทรัพยากรของสถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งเครื่องมือทางด้านนโยบายการเงิน  

นายวิรไทกล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 รอบนี้เป็นเรื่องคาดการณ์ยาก เพราะเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบกว้างไกลต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรงหรือวิกฤติสถาบันการเงินที่เราคุ้นเคย และไม่ใช่วิกฤติจากภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ที่เราทราบว่าพอน้ำท่วมผ่านไป เศรษฐกิจก็จะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ครั้งนี้ไม่ทราบว่า การระบาดจะจบลงเมื่อไหร่และจบอย่างไร 

ผู้ว่าธปท. ขอคนไทย “การ์ดอย่าตก”

นอกจากนั้นไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด จึงขึ้นกับสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศด้วย ทั้งเป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และบางอุตสาหกรรมต้องพึ่งพิงต่างประเทศสูง เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดังนั้นถ้าสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกยังไม่แน่นอน การประเมินสภาวะเศรษฐกิจไทยต้องมีหลายฉากทัศน์ (scenario) และวางแผนเตรียมพร้อมรับมือหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ถ้าทุกอย่างจบลงเร็ว เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้ดี แต่ เราชะล่าใจไม่ได้

“แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่หยุดนิ่งไป 2 - 3 เดือนจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ชีวิตหลังโควิด 19 จะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยากขึ้น มีต้นทุนสูงขึ้น และมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น เราต้องยอมรับว่า ชีวิตหลังโควิด 19 จะไม่เหมือนเดิม รูปแบบการทำธุรกิจ การใช้ชีวิต หรือการบริโภคของประชาชน จะเปลี่ยนแปลงมาก”

อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ระบบสาธารณสุขและระบบสังคมในเอเชียมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าหลายภูมิภาคในโลก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะจีน เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไป เมื่อวิกฤติโควิด 19 คลี่คลายลง เราจะได้เห็นการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (regionalization) เพิ่มมากขึ้นด้วย

“ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดมาได้ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือ เราจะปล่อยให้ “การ์ด (guard) ตก” ไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าหากเกิดการระบาดอีกระลอก  คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรของภาครัฐ ทรัพยากรของสถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งเครื่องมือทางด้านนโยบายการเงิน จะมีข้อจำกัดมากขึ้นและจะใช้ได้ยากขึ้นมาก ขณะเดียวกันถ้ารอให้วิกฤติจบแล้วค่อยมาเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจก็อาจจะสายไป เราจึงต้องวางนโยบายทั้งมิติของการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”

ขณะเดียวกันธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ หลังวิกฤติโควิด 19 ธนาคารกลางต้องให้ความสำคัญ 3 เรื่องคือ

เรื่องแรก โลกจะเข้าสู่กระแสดิจิทัลเร็วขึ้น สถาบันการเงินต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกการเงินวิถีใหม่  ดังนั้นการเร่งพัฒนาระบบการเงินดิจิทัล เพื่อรองรับธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของธนาคารกลางทั่วโลก ธปท.จึงยังมีโจทย์เรื่องการต่อยอดบริการทางการเงินให้เป็นรูปแบบดิจิทัลอยู่อีกมาก ต้องครอบคลุมหลากหลายบริการ โดยเฉพาะสำหรับภาคธุรกิจ ระบบการเงินดิจิทัลจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินต่อได้ในสถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน และทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีผลิตภาพที่ดีขึ้น 

เรื่องที่สอง โลกจะอยู่ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกนาน โลกหลังโควิด 19 ธนาคารกลางทุกประเทศต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยลดผลกระทบและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และหนี้สินของประชาชนและธุรกิจจะยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพราะรายได้ลดลงมาก 

เรื่องที่สาม เสถียรภาพของระบบการเงินจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบธนาคารพาณิชย์แบบที่คุ้นเคยในอดีตเท่านั้น เพราะระบบการเงินปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันสูงและครอบคลุมทั้งตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวม วิกฤติรอบนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งต้องออกเครื่องมือมาดูแลระบบการเงินและตลาดการเงินที่กว้างไกลกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจลุกลามไปทั้งระบบ ในยุคหลังโควิด 19 ธนาคารกลางจะมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพใหญ่เพิ่มขึ้น

 “ทั้ง 3 ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่า โจทย์ของธนาคารกลางทั่วโลกหลังวิกฤติโควิด 19 อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องเร่งขับเคลื่อนให้แรงขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อจะได้เท่าทันกับปัญหาหรือความท้าทายที่จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากโควิด 19 คลี่คลายลง ซึ่งโควิด 19 นี้ไม่ใช่วิกฤติใหญ่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเผชิญ เราผ่านมาแล้วหลายวิกฤติและสามารถก้าวข้ามผ่านมาได้ ผมเชื่อว่า การปรับตัวเองให้สอดคล้องกับโลกใหม่จะช่วยให้พวกเราทุกคนก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน”