รัฐลุยแผนแม่บทน้ำ 20 ปี 2 ปีแรกทุ่มแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้าน

27 มิ.ย. 2563 | 09:54 น.

รัฐลุยปฏิรูปแหล่งน้ำเดิม-เพิ่มแหล่งใหม่ เสริมความมั่นคงน้ำตามแผนแม่บท 20 ปี เผย 2 ปีแรกใช้งบไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้าน ชี้เป็นแค่ก้าวแรก เส้นทางอีกยาวไกล

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หรือ “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศไทยต้องมาตั้งหลักคิดถึง “การบริหารจัดการน้ำ” อย่างเป็นระบบอย่างจริงจัง โดยปี 2560-2562 ถือเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของ “ยุคปฏิรูป” การจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศใหม่ ผลจากการเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของ “4 เสาหลัก” ด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ประกอบด้วย

 1.แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งเป็นกรอบและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ 2.สำนักงานทรัพยากรน้ำแหล่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนภารกิจตามแผนแม่บท ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานน้ำกว่า 40 หน่วยงานจาก 7 กระทรวง 3.พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักสำหรับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และ 4.การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี 

 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า หากพิจารณาจากเสาหลักทั้ง 4 จะเห็นว่า เสาหลักที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศว่าจะเดินไปทางไหน คือ “แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)” ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้านหลัก คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการ

แต่ทั้งนี้การจะชี้ลงไปให้ชัดเจนว่า “ทิศทางตามแผนที่วางไว้ เป็นการเดินมาอย่างถูกทางแล้วหรือไม่?” ก็คงไม่มีวิธีการใดจะให้คำตอบได้ดีไปกว่าการ “วัดผล” จากการปฏิบัติจริง

รัฐลุยแผนแม่บทน้ำ 20 ปี 2 ปีแรกทุ่มแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้าน

โดยในช่วงปีงบประมาณ 2561-2562 หน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้การบูรณาการของ สทนช. เริ่มนำร่องภารกิจตามแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำทั้ง 6 ด้าน โดยใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 121,544 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณประจำปีตามปกติ 7,112 ล้านบาท และงบประมาณแผนบูรณาการน้ำจากหน่วยงานต่าง ๆ อีก 114,432 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ใช้งบประมาณปกติ 5,552 ล้านบาท งบประมาณแผนบูรณาการน้ำ 4,339 ล้านบาท รวม 9,891 ล้านบาท โดยมีเนื้องาน เช่น การก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน 6,139 แห่ง, การพัฒนาระบบประปาในเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ 489 สาขา, ประปาโรงเรียน/ชุมชน 1,004 แห่ง ซึ่งทำให้ครัวเรือนทั่วประเทศได้รับประโยชน์หลายแสนครัวเรือน

การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ใช้งบประมาณ 842 ล้านบาท และงบประมาณแผนบูรณาการน้ำ 66,831 ล้านบาท รวม 67,673 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งน้ำหรือระบบส่งน้ำเดิม, การฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกัก, พัฒนาระบบกระจายน้ำพื้นที่ 15,523 ไร่, ขุดสระน้ำในไร่นา 91,510 แห่ง, พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 102,160 ไร่แหล่งเก็บกักน้ำ อาคารบังคับน้ำ และระบบส่งน้ำใหม่ 765 แห่ง 577,058 ไร่ ได้น้ำเพิ่ม 170 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย งบประมาณ 40,996 ล้านบาท จากงบประมาณปกติ 423 ล้านบาท และงบประมาณแผนบูรณาการน้ำ 40,573 ล้านบาท เช่น การจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 35 แห่ง, สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในพื้นที่ต่าง ๆ รวม 215 กิโลเมตร(กม.), เพิ่มประสิทธิภาพอาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ 332 แห่ง พื้นที่ 1,053,217 ไร่, การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำและลำน้ำธรรมชาติ 217 แห่ง

การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณปกติ 294 ล้านบาท และงบประมาณแผนบูรณาการน้ำ 1,053 ล้านบาท รวม 1,347 ล้านบาท เช่น สร้างระบบบำบัดและควบคุมน้ำเสีย 12 แห่ง, เพิ่มประสิทธิภาพระบบเดิม 3 แห่ง, พัฒนาระบบควบคุมกำกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ 699 แห่ง และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศใน 5 ลุ่มน้ำ เป็นต้น

การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม โดยใช้งบประมาณ 468 ล้านบาท จากงบประมาณแผนบูรณาการน้ำ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำครอบคลุมพื้นที่ 110,820 ไร่ โดยมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มเป็น 734,000 ไร่ ภายในปี 2565 

การบริหารจัดการงบประมาณ 1,168 ล้านบาท จากงบบูรณาการน้ำเพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำและระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เช่น ระบบเรดาร์ตรวจอากาศ, ระบบคาดการณ์และเตือนภัยวิกฤติคุณภาพลุ่มน้ำ และยังมีโครงการสำคัญ เช่น การวิจัยการจัดการทรัพยากรน้ำ, จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อนงบกลาง สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง  ปี 2562/63 ในพื้นที่ 44 จังหวัด จำนวน 2,041 โครงการ วงเงิน 3,079.4 ล้านบาท (ตามมติคณะครม.วันที่ 7 มกราคม 2563) และได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 (เพิ่มเติม) ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด จำนวน 166 โครงการ วงเงิน 622.4 ล้านบาท (ตามมติ ครม.วันที่ 17 มี.ค. 2563)

รัฐลุยแผนแม่บทน้ำ 20 ปี 2 ปีแรกทุ่มแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้าน

ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า  การทำงานภายใต้แผนแม่บทน้ำ ไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณด้านน้ำได้อย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งจากผลการดำเนินงานตามแผนบทน้ำฯ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบส่งน้ำใหม่ รวมกว่า 765 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 170 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาระบบผันน้ำและระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิมเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ 510 ล้าน ลบ.ม.

ขณะเดียวกัน ยังเร่งรัดดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนโครงการแหล่งน้ำเดิม 8 แห่ง โดยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ ๆ เช่น ในพื้นที่ EEC มีการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 23.87 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงอีกหลายโครงการที่รัฐบาลได้สนับสนุนและผลักดันให้เกิดขึ้นซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองกระแส จ.ชลบุรี ปริมาณน้ำเก็บกัก 18 ล้าน ลบ.ม. ระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ปริมาณน้ำ 50 ล้าน ลบ.ม.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ 68 ล้าน ลบ.ม. จ.จันทบุรี ปรับปรุงเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง เป็นต้น

รัฐลุยแผนแม่บทน้ำ 20 ปี 2 ปีแรกทุ่มแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้าน

“แนวทางตามแผนแม่บททำให้แหล่งน้ำเดิมได้รับการเพิ่มศักยภาพ และเกิดแหล่งน้ำใหม่หลายแห่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเกิดขึ้นกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยตัวอย่างแหล่งน้ำที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี  2562  อาทิ  อ่างเก็บน้ำคลองไพร ต.นาบ่อคำ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ปริมาณน้ำเก็บกัก 15.02 ล้าน ลบ.ม.  อ่างเก็บน้ำห้วยไฮ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ปริมาณน้ำเก็บกัก 4.10 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1,100 ไร่  ฝายลำพะยัง ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ปริมาณน้ำเก็บกัก 0.31 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยโพง(ตอนบน) ต.ศรีแก้ว อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 12.40 ล้าน ลบ.ม.”ดร.สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้เป็นเพียงแค่ “ก้าวแรก” สำหรับการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเท่านั้น ในอนาคตยังมีภารกิจอีกมากมายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป