คลังจ่อกู้เพิ่มปิดขาดดุล

29 มิ.ย. 2563 | 00:10 น.

อุตตม สั่ง 3 กรมภาษี ประเมินรายได้ปี 63-64 หลังจัดเก็บพลาดเป้า ก่อนพิจารณากู้เพิ่มอีกหรือไม่ รับเศรษฐกิจตกตํ่าจริง แต่พร้อมหาแนวทางแก้เต็มที่ ยันไม่เพิ่มวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท แล้ว ใช้เท่าที่จำเป็น คัดกรองโครงการให้เหมาะสม

ผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆให้ชะงักงัน รวมถึงกระทบต่อรายได้ ทั้งภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการ และเมื่อรวมกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี การนำส่งและการชำระภาษีอากร ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ทำให้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาล

ล่าสุดนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ 3 กรมภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ประเมินการจัดเก็บรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2563 ที่จัดทำงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 4.69 แสนล้านบาท และ 2564 จัดทำงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 6.23 แสนล้านบาทว่า จะปรับตัวลดลงมากน้อยเพียงใด 

หลังจากการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อพิจารณาว่าจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งหากสัดส่วนรายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกันตามงบประมาณที่จัดทำ ก็จะต้องพิจารณาว่า ต้องกู้เพิ่มเติมจากวงเงินกู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทอีกหรือไม่ด้วย  

อย่างไรก็ตามขณะนี้ ยังคงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ไว้ที่ 3.26 ล้านล้านบาท เช่นเดิมก่อน ยังไม่มีการปรับตัวเลข โดยจะต้องรอการประเมินของกรมภาษีก่อนว่าเป็นอย่างไร 

“หากขาดดุลเพิ่มขึ้นจริง ก็ต้องบริหารจัดการ เพราะหากรายได้หายไป จะทำให้เราขาดดุลเพิ่ม เราจะทำอย่างไรเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ซึ่งกรอบกำหมายสามารถกู้ชดเชยรายได้ไม่พอรายจ่ายได้อยู่แล้ว ส่วนเป้าหมายรายได้ปีงบประมาณ 64 ยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับตัวเลขแต่อย่างใด” นายอุตตมกล่าว 

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ติดลบ 8.1% นั้น ยอม รับว่า เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงการคลังสามารถได้ในขณะนี้คือ การประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปให้ได้ ด้วยการออกมาตรการเยียวยาต่างๆ โดยเฉพาะการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบการเลิกจ้างงาน และการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

ขณะที่การใช้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 400,000 ล้านบาทนั้น ยืนยันว่า ไม่มีการพิจารณาให้เพิ่มสัดส่วนการใช้เงินดังกล่าว แม้ว่าจะมีการเสนอโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมาก และหลายฝ่ายกังวลถึงการใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะรัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่ดูแลโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะคัดกรองโครงการที่เหมาะสม เพื่อใช้วงเงินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

นอกจากนี้เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ให้กับประชาชนในช่วงนี้ ทางกระทรวงการคลัง จึงร่วมกับ 8 สถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนากรุงไทย จำกัด(มหาชน) ในการจัดทีมร่วมกับทีมหมอคลังสัญจรลงพื้นที่ตามต่างจังหวัด เพื่อดูแลภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องและใช้เงิน CSR ของแต่ละแห่งมาร่วมกันจัดทำอาหารกล่องเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศต่อไป

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-มีนาคม 2563)พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,143,571 ล้านบาท  ตํ่ากว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,572 ล้านบาท หรือ 1.3% และตํ่ากว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% โดย 3 กรมภาษีจัดเก็บได้ 1,164,730 ล้านบาทตํ่ากว่าปีก่อน 3,762 ล้านบาทหรือ 0.3% และตํ่ากว่าเอกสารงบประมาณ 36,484 ล้านบาทหรือ 3%

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563