เพี้ยง ประเทศไทยจงเจริญ แห่ขอใช้เงินกู้ 1.44 ล้านล้าน

26 มิ.ย. 2563 | 13:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรฐกิจ ฉบับ 3587 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 1 ก.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

เพี้ยง! ประเทศไทยจงเจริญ

แห่ขอใช้เงินกู้ 1.44 ล้านล้าน

 

     ตะลึงพรึงเพริศไปตามๆ กัน เมื่อ ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ออกมาระบุความคืบหน้าแผนการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีกรอบวงเงินที่กู้มา 4 แสนล้านบาท พบว่า ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2563 มีหน่วยงานภาครัฐ กระทรวง ระดับกรม และระดับจังหวัดจัดทำข้อเสนอโครงการ แผนงานเพื่อใช้เงินกู้ก้อนนี้มากกว่า 46,429 โครงการ คิดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

ประเทศไทยจงเจริญ แห่ขอใช้เงินกู้ 1.44 ล้านล้าน

     เรียกว่า ขอใช้เงินกู้ไปทำโครงการฟื้นฟูชุมชน กระตุ้น เศรษบกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างโครงกสร้างพื้นฐานกันสนั่นลั่นทุ่ง มากกว่าเงินกู้ที่รัฐบาลจัดทำมาถึง 350 เท่าตัว

     การพิจารณาโครงการในระดับอนุกรรมการฯ ได้มีการอนุมัติในระยะที่ 1 ไปแล้วจำนวน 3 แผนงาน 213 โครงการ วงเงินร่วม 101,482 ล้านบาท

     โครงการหลักที่พร้อมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการทันทีในเดือนกรกฏาคม ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อกระตุ้นให้ก่อเกิดการสร้างการจ้างงาน 9,000 ตำแหน่ง ก่อให้เกิดการจ้างงานนักศึกษาเก็บข้อมูลหมู่บ้าน 14,000 ตำแหน่ง โครงการจ้างงานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ 15,000 ตำแหน่ง และจ้างคนปลูกป่า สร้างแนวกันไฟ 40,000 ตำแหน่ง

     โครงการในระยะที่ 1 ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย แผนการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตยั่งยืนในอนาคต เช่น โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการศูนย์ข้าวชุมชน ผ่านกระทรวงเกษตร วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท

     โครงการแผนงานกระตุ้นการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอีก 2.4 หมื่นล้านบาท

     ผลที่ประชาชนจะได้รับ คือ สร้างการจ้างงานได้ 4 แสนตำแหน่ง และเกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท

ประเทศไทยจงเจริญ แห่ขอใช้เงินกู้ 1.44 ล้านล้าน

     คุณทศพรบอกว่า ในเบื้องต้นทางสภาพัฒน์ จะทำการเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ และจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 8 กรกฎาคม เพื่อให้โครงการเริ่มดำเนินการได้ในทันที

     นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ต้องเรีบเร่งดำเนินการเพื่อจัดเงินมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินและประคองการจ้างงาน ซึ่งมีการทำเรื่องขอใช้เงินกู้มา 2 โครงการวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท

     โครงการนี้ ทาง วีระพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดทำโครงการให้สภาพัฒน์พิจารณา แต่ล่าสุดได้ถูกส่งกลับมาให้ทบทวนกรอบการใช้เงินใหม่ โดยมีการคาดว่ากรอบการใช้เงินจะต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แต่จะปรับเหลือที่เท่าไหร่นั้น จะมีการพิจารณารายละเอียดในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนนี้

     ผมไปดูรายละเอียดมาแล้วพบว่า โครงการใช้เงินกู้มาดูแลเอสเอ็มอีจะแบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกเอาไปใช้ดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีที่ไม่อยู่ในสถาบันการเงิน จึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ราว 850,000 ราย

     ก้อนที่สองนำไปใช้ดูแลเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียที่มีอยู่ราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นถ้าไม่ช่วยกลุ่มนี้ก็จะทำให้เอสเอ็มอีล้มหายตายจากและเกิดการว่างงานจำนวนมาก

ประเทศไทยจงเจริญ แห่ขอใช้เงินกู้ 1.44 ล้านล้าน

     หลายคนสงสัยว่า โครงการที่เสนอมามากมายมีอะไรบ้าง กลุ่มไหนบ้างถึงมากมายมหาศาลขนาดนี้...มาดูนี่ครับพี่น้อง

     ข้อเสนอโครงการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 46,411 โครงการ วงเงิน 1,448,474 ล้านบาท ที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้น อยู่ระหว่างการกลั่นกรอง 213 โครงการ วงเงิน 101,482.29 ล้านบาท แยกเป็น แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 129 โครงการ 58,069.71 ล้านบาท

     เป็นแผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 77 โครงการ 20,989.81 ล้านบาท

     แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว 7 โครงการ 22,422.77 ล้านบาท

     โครงการที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว เป็นโครงการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 58,069 ล้านบาท จำนวน 129 โครงการ โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ 5,333 ล้านบาท จำนวน 73 โครงการ   

     โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่วงเงิน 19,330 ล้านบาท จำนวน 15 โครงการ แยกเป็นของกองทุนหมู่บ้าน 15,920 ล้านบาท โครงการยกระดับเศรษฐกิจสังคมรายตำบลจำนวน 25 โครงการ วงเงิน 13,673 ล้านบาท โครงการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานรากวงเงิน  3,740 ล้านบาท

ประเทศไทยจงเจริญ แห่ขอใช้เงินกู้ 1.44 ล้านล้าน

     หลายคนสงสัยว่า แล้วโครงการที่ขอมาของบรรดาข้าราชการและหน่วยงานรัฐและผ่านการพิจารณาระดับแรกไปแล้วมีของกระทรวงอะไรบ้าง? มาดูนี่...

     กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ผ่านรอบแรกประกอบด้วยโครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน 1,014.57 ล้านบาท โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน 246.69 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า 1,461.59 ล้านบาท สิริร่วม 3,000 ล้านบาท

     กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทย ที่ผ่านการพิจารณากลั่นรองรอบแรกแล้วมี โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 20,000 ล้านบาท โครงการกำลังใจ 2,400  ล้านบาท โครงการพื้นที่ต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ของโลก 100 ล้านบาท และโครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (Safety Zone) 15  ล้านบาท...อะแฮ่ม!

     กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การกำกับดูแลของโควตานายกรัฐมนตรีที่ผ่านรอบแรกประกอบด้วย โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1,080.58 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” 4,953.78  ล้านบาท โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ 2,701.87 ล้านบาท โครงการชุมชนท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 546.13 ล้านบาท ทับซ้อนกับใครบ้างไม่รู้ รู้ว่าต้องได้..หึหึ...

ประเทศไทยจงเจริญ แห่ขอใช้เงินกู้ 1.44 ล้านล้าน

     กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านรอบแรกประกอบด้วย โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เงินไม่มากครับ 14,315.8 ล้านบาท โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) 169.89 ล้านบาท โครงการสร้างเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลเกษตรร่วมกันของชุมชน (Agri.Machinery Ring, AMR) 19.48  ล้านบาท

     โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 13,904.5 ล้านบาท โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน 900 ล้านบาท และโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีสนับสนุนให้กับเกษตรกรและแรงงานคืนถิ่น 690.80 ล้านบาท

     ตั้งโครงการขอใช้เงินกันมากมายมาพัฒนาประเทศขนาดนี้ เพี้ยง ขอให้ประเทศไทยจงเจริญ!