เปิดงบ 1.5 แสนล้านอุ้ม SMEs ใครมีสิทธิ์ได้-ใครส่อวืด!

26 มิ.ย. 2563 | 06:35 น.

เปิดงบ 1.5 แสนล้านช่วยเอสเอ็มอี สสว.ชี้ 5 หมื่นล้านแรกเน้นช่วยกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนก่อน คาดช่วยได้เต็มที่ไม่เกิน 1 ล้านราย ส่วนอีก 1 แสนล้านบาทอุ้มกลุ่ม NPL คาดใช้เวลาพิจารณานานกว่า

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักคัดกรองข้อเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามวงเงิน 4 แสนล้านบาทภายใต้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563  เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งเปิดให้กระทรวงต่าง ๆ ยื่นเสนอโครงการเบื้องต้น (Project Brief)เพื่อขอใช้งบดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สถานะการเสนอโครงการล่าสุดที่เปิดเผยผ่านระบบ “ThaiMe” ในเว็บไซต์ สศช. ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2563 มีคำขอ 46,411 โครงการ วงเงินรวม 1,448,474 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินที่มีอยู่ 4 แสนล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดดลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมเสนอโครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้วงเงิน 1 แสนล้านบาท โครงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และโครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อ Digital Transformation ของเอสเอ็มอีไทย 750 ล้านบาท รวม 1.507 แสนล้านบาท  ซึ่งถือว่าสูงมาก เรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมด

เปิดงบ 1.5 แสนล้านอุ้ม SMEs  ใครมีสิทธิ์ได้-ใครส่อวืด!

นายวีระพงษ์  มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โจทย์ที่สำคัญที่ปัจจุบันไม่ใช่อยู่ที่วงเงิน โดยวงเงินที่ยื่นขอไปเป็นเพียงแค่ตุ๊กตาเบื้องต้นเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินไม่ว่าจะด้วยระบบใดก็ตาม  โดยกลุ่มดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบาง  และต้องประสบกับปัญหาความยากลำบากอยู่มาก ซึ่งวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทที่ขอไปจะยังคงอยู่เช่นเดิม

ขณะที่ในส่วนของหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือนั้น  ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาข้อมูลอย่างรอบครอบว่าจะมีวิธีการอย่างไร  เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก  และค่อนข้างจะสลับซับซ้อน  โดยคาดว่าเงื่อนไขน่าจะมีการผ่อนปรนมากกว่า  โครงการ “SMEs One” ที่ สสว. ดำเนินการร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อให้สะดวกในการเข้าถึง  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะอำนวยความสะดวกไปเสียทั้งหมด  ทุกอย่างจะต้องมีกรอบ  และกติกาที่ชัดเจนให้ได้ปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี  หัวใจสำคัญก็คือจะต้องเป็นเอสเอ็มอีที่ยังประกอบกิจการอยู่  และมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้  โดยคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้น่าจะมีข้อสรุป  ส่วนขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน  สสว.จะต้องนำเรื่องเข้าสู่สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็น  ก่อนที่ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง  และนำกลับไปให้ สศช. ได้พิจารณาอีกครั้ง โดยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้น  หากมองภาพรวม ณ วันนี้  น่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 1 ล้านราย  โดยที่แต่ละรายจะได้รับวงเงินไม่เท่ากัน  ซึ่งคำนวณจากในระบบฐานข้อมูลที่ สสว. มีในปัจจุบัน  พบว่ามีเอสเอ็มอีทั่วประเทศอยู่กว่า 3 ล้านราย

“เวลานี้กลุ่มที่สำคัญที่ควรจะต้องไปดูแลก่อนคือกลุ่มเข้าไม่ถึงทุน  เพราะกลุ่มอื่นได้รับการดูแลเยียวยาไปบ้างแล้วจากมาตรการต่าง ๆ”

เปิดงบ 1.5 แสนล้านอุ้ม SMEs  ใครมีสิทธิ์ได้-ใครส่อวืด!

ส่วนวงเงิน 1 แสนล้านบาทที่จะช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสีย(NPL) นั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง  โดยล่าสุดได้ให้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปจัดทำข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม  โดยหัวใจสำคัญที่ไม่แตกต่างกันก็คือ จะต้องเป็นธุรกิจที่ดูมีอนาคต เพราะคงจะเข้าไปช่วยหมดทุกผู้ประกอบการไม่ได้  ซึ่งคงต้องยอมรับว่าอาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง  โดยถือว่าเป็นความยากของการดำเนินโครงการ  เพราะเงินจะต้องลงไปยังเอสเอ็มอีโดยตรง

“ในความเป็นจริงก็คือทุกคนเดือดร้อน  และถูกกระทบกันหมด  หากจะให้ดูแลทั้งหมด 100% วงเงิน 1 แสนล้านบาทก็คงไม่เพียงพอ โดยวงเงินดังกล่าวเป็นเพียงตุ๊กตาที่อาจจะช่วยได้แค่ 1 ใน 3 ของเอสเอ็มอีทั้งหมด  เท่านั้น โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ข้อมูลพื้นฐานที่ยังไม่ได้จัดชั้นหนี้  มี NPL(หนี้เสีย) จากธนาคารเฉพาะกิจ  และธนาคารพาณิชย์ประมาณ 3 แสนกว่าราย  ซึ่งคงช่วยไม่ได้ทั้งหมดต้องดูที่ไปต่อได้  ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก  เราจะมีวิธีการอย่างไรที่เหมาะสม  และต้องไม่เป็นการช่วยเหลือกลุ่มที่ซ้ำซ้อน  โดยค่อนข้างต้องใช้เวลา  ซึ่งโครงการอาจจะมีความล่าช้ากว่ากลุ่มของเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน”

นายวีระพงษ์ กล่าวอีกว่า  การพิจารณาช่วยเหลือจะต้องดูจากความจำเป็นเร่งด่วน  เพราะฉะนั้นในส่วนของโครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อ Digital Transformation คงจะต้องถูกถอดออกไปก่อน ส่วนทั้ง 2 โครงการที่เหลือเวลานี้  ก็คงต้องรอดูว่าจะได้รับพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ได้ที่วงเงินเท่าไร