ปรับใหญ่ “ไทยรัฐ-เดลินิวส์” ฝ่า "วิกฤตซ้อนวิกฤต" วงการสื่อ

26 มิ.ย. 2563 | 01:50 น.

สั่นสะเทือนอีกระลอกใน วงการสื่อ เมื่อปรากฏข่าว “ไทยรัฐ-เดลินิวส์” หนังสือพิมพ์หัวสียอดนิยมรายใหญ่ของไทย ต้องปรับกลยุทธ์แบบรีดเลือด-เฉือนเนื้อเพื่อฝ่าแรงคลื่น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ที่มาในรูป Digital disruption และโควิด-19 ไปให้ได้ 

 

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงทรรศนะไว้น่าคิด สะท้อนภาพที่คมกริบของสถานการณ์การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของวงการสื่อไทย ผ่านทางเฟซบุ๊ก มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ และทวิตเตอร์ @dr_mana เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไว้ดังนี้

ปรับใหญ่ “ไทยรัฐ-เดลินิวส์” ฝ่า "วิกฤตซ้อนวิกฤต" วงการสื่อ

------------

ปี 2020 เป็นปีที่คนสื่อ โดยเฉพาะคนทำหนังสือพิมพ์ต้องจดจำไปอีกนาน เพราะต้องผจญกับภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต”

วิกฤตแรกเป็นของเก่าที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาจเรียกรวมๆว่าเป็นผลพวงของ “Digital disruption”

เมื่อการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนผ่านโฉมหน้าภูมิทัศน์สื่อ ส่งผลให้พฤติกรรมการเสพรับข้อมูลข่าวสารของคนเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย

วันนี้ คนจำนวนมากไม่ยอมเสียเงินเพื่อซื้อข้อมูลข่าวสารจากสื่อหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เนื่องเพราะพวกเขาสามารถหาเสพข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นได้จากอินเตอร์เน็ท

มันทั้งเร็ว ฟรี และไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างจากสื่อเดิม

แหล่งรายได้หลักที่เคยได้จากเม็ดเงินโฆษณาก็ลดน้อยลงตามจำนวนยอดคนอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะบริษัทห้างร้านต่าง ๆหันไปเทงบโฆษณาลงในสื่อออนไลน์แทน

ทำให้องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์หลายแห่งจำต้องปิดตัว หลายแห่งต้องปลดพนักงาน

ในขณะที่วิกฤตแรกยังเดือดระอุ คนสื่อยังต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคร้าย “โควิด-19” กระหน่ำซ้ำเติม เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องชะลอการเคลื่อนไหวของผู้คนในประเทศ มีการประกาศชัดดาวน์ เคอร์ฟิว หยุดการทำงานในสถานประกอบการหลายแห่ง โดยให้ Work from home แทน

เมื่อองค์กรธุรกิจได้รับผลกระทบจากโรคร้าย ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาที่เคยเจียดมาให้สื่อสิ่งพิมพ์และอุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมยิ่งลดน้อยลง บางธุรกิจถึงกับประกาศงดใช้เงินโฆษณาในช่วงวิกฤต

รายได้เสริมของสื่อที่เคยได้จากการจัดงานอีเวนท์ งานทัวร์ งานกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ก็ถูกตัดตอน เพราะไม่สามารถจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากในช่วงระยะเวลานี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สื่อส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำข่าว แต่บางแห่งเลือกใช้วิธีปิดกิจการ หรือปลดพนักงานเพิ่มขึ้น

พลิกดูหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ หรือเปิดเสพข่าวสารในสื่อทีวี วิทยุในช่วงนี้ เราแทบจะไม่เจอข่าวเชิงสืบสวน ขุดคุ้ยทุจริต คอรัปชัน หรือตีแผ่เจาะลึกปัญหาสังคม เพราะข่าวประเภทนี้ต้องใช้ต้นทุนสูงทั้งเม็ดเงิน และกำลังคน

ในช่วงวิกฤตผู้คนยิ่งกระหายข้อมูลข่าวสาร เจาะลึก แต่สื่อบางแห่งกลับละเลยการกรองข้อมูลข่าวสาร เน้นขายความตื่นเต้น เร้าใจ จนบางครั้งละเลยต่อกรอบจริยธรรมสื่อมวลชน กลายเป็นแหล่งช่วยแพร่กระจายข่าวปลอม ข่าวลือเสียด้วยซ้ำ

นั่นอาจนำมาซึ่งวิกฤตที่หนักหน่วงกว่าสองวิกฤตแรก

เพราะเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อความน่าเชื่อถือของสื่อไทยโดยภาพรวม

#เปรยตามสายลม

เห็นข่าวที่เกิดขึ้นในวงการสื่อในวันนี้แล้ว ขออนุญาตคัดลอกบทนำในหนังสือประจำปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเล่มล่าสุดมาให้อ่านกันก่อนครับ

-----

อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จะมีการจ้างพนักงานออก 50 % ของจำนวนทั้งหมด โดยจะมีการจ่ายเงินเยียวยาตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ มีข่าวการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร โดยนายประชา เหตระกูล จะลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร เปิดทางให้ประภา เหตระกูล เข้ามาบริหารงานแทน ทำให้เป็นที่จับตาว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในกองบรรณาธิการข่าว รวมถึงการปรับลดคนด้วยหรือไม่