SMEs กระทุ้งใช้งบแสนล้าน สร้างตลาด-รายได้แทนปล่อยกู้

26 มิ.ย. 2563 | 05:00 น.

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสานเสียงแนะรัฐบาลควรนำงบ 1 แสนล้านบาทที่จะปล่อยกู้เอสเอ็มอีเพิ่มเติมมาสร้างตลาด สร้างรายได้มากกว่า เชื่อการให้กู้แค่เพียงยืดระยะเวลาปิดกิจการเท่านั้น

งบประมาณจำนวน 1 แสนล้านบาท (จากก้อน 5.55 แสนล้านบาท) ซึ่งรัฐบาลตั้งใจนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ปัจจุบันยังหาแนวทางข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรถึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  เพราะรัฐเองต่างก็ได้เห็นปัญหาจากมาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมา  และพยายามที่จะปรับปรุงแนวทางให้เหมาะสมมากที่สุด

นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมเพื่อสุขภาพ แบรนด์ “เวล-บี”  ให้ความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินจำนวน 1 แสนล้านที่จะนำมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น  มองว่าไม่ควรออกมาในรูปแบบเงินกู้  เพราะแม้ว่าเอสเอ็มอีจะได้วงเงินสินเชื่อ แต่ก็ยังไม่มีรายได้เข้ามา  เสมือนเป็นเพียงการให้เงินมาช่วยผ่อนภาระค่าดอกเบี้ย หรือค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจกิจ อีกไม่นานก็ต้องปิดกิจการ  หรือเรียกว่าเป็นเพียงแค่การยืดระเวลาการปิดกิจการ หรือตายช้าลงเท่านั้น

SMEs กระทุ้งใช้งบแสนล้าน  สร้างตลาด-รายได้แทนปล่อยกู้

สำหรับแนวทางในการใช้วงเงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น  มองว่ารัฐบาลควรที่จะดำเนินการในรูปแบบที่เป็นการสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีมากกว่า ตัวอย่างเช่น การสร้างตลาดกลางในรูปแบบออนไลน์ที่ประเทศจีน เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้าไปจำหน่ายที่ประเทศจีนได้ เพราะในปัจจุบันลูกค้าจากจีนที่ต้องการซื้อสินค้าจากไทยยังไม่สามารถเดินทางมาที่ไทยได้

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญก็คือ จะต้องเป็นการว่าจ้างภาคเอกชนให้เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องของการสร้างช่องทางการขาย โดยที่รัฐนำเงิน 1 แสนล้านบาทดังกล่าวมาว่าจ้าง โดยจะทำให้เกิดทั้งการจ้างงานสำหรับภาคเอกชนที่เป็นผู้ดำเนินการ  และทำให้เอสเอ็มอีได้เงินสนับสนุน  ทำให้สามารถนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้แบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้รัฐบาลต้องดำเนินการในหลากหลายแนวทาง เพื่อให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมเน้นการสร้างรายได้  ถือว่าเป็นความท้าทาย ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเววลานี้คือกลุ่มท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงหลายอุตสาหกรรมทั้งทัวร์ โรงแรม  หรือร้านอาหาร  ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการให้บริการในรูปแบบของดีลิเวอรีที่ทำให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่เอสเอ็มอีก็ยังต้องเสียค่าดำเนินการประมาณ 30% รัฐเองก็อาจจะสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมารองรับ  โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายกับเอสเอ็มอี เหมือนกับที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทำแพลตฟอร์มขึ้นมา  หรือการลดภาษีให้กับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวก็จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรมได้

“ที่ต้องดำเนินการหลากหลายแนวทาง เพราะไม่ใช่ว่าเอสเอ็มอีทุกกลุ่มจะมีสินค้าที่ตอบโจทย์ของจีนได้ เอสเอ็มอีมีหลายอุตสาหกรรม รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูว่ามีกลุ่มไหนที่ได้รับความเดือดร้อน  โดยใช้เงิน 1 แสนล้านเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือผ่านภาคเอกชนที่มีความชำนาญ”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกรายหนึ่ง ซึ่งมีประสบการณ์ในการขอกู้สินเชื่อจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลหลังโควิด-19 โดยระบุว่า การเข้าถึงสินเชื่อมีเงื่อนไขที่ไม่ผ่อนปรน  ขณะที่สถาบันการเงินเองก็ไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อ  เพราะกังวลเรื่องของความเสี่ยง  เพราะฉะนั้น แนวทางในการนำงบประมาณมาสร้างตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีจึงน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเอสเอ็มอีได้มากในช่วงนี้  จริงอยู่ที่เอสเอ็มอีต้องการสภาพคล่อง  แต่การสร้างรายได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563