ธปท.ประเมินไตรมาสสองจีดีพีหดตัวลึก-ลุ้นผลประสิทธิภาพมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ

24 มิ.ย. 2563 | 23:01 น.

ธปท. คาดครึ่งปีหลังยังเห็นตัวเลขจีดีพีติดลบ แต่เป็นการติดลบที่น้อยลงก่อนขยายเป็นบวกในปีหน้า

ธปท.หวัง 2ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจฟื้นทั้ง “การปฎิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ”   หลังประเมินโควิดทุบจีดีพีไทยปีนี้ติดลบ 8.1%ต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์-คาดครึ่งปีหลังยังเห็นตัวเลขจีดีพีติดลบ แต่เป็นการติดลบที่น้อยลงก่อนขยายเป็นบวกในปีหน้า

สถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มยืดเยื้อ จนต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด หลังจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกหดตัวในหลายประเทศรวมทั้งเศรษฐกิจไทย แม้ว่ามาตรการควบคุมCOVID-19มีพัฒนาการดีขึ้น แต่แนวโน้มยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีนที่จะกระจายแพร่หลายได้ครอบคลุมในวงกว้าง 
เมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่าที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)  ประกาศปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยทั้งปีมีแนวโน้มจะติดลบ 8.1% จากเดิมคาดติดลบ  5.3% และประเมินจีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้ 5% ในปี 2564 จากภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว และมีเม็ดเงินจากโครงการกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
 

สำหรับสมมติฐาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ติดลบ8.1%นั้น ธปท.ได้ปรับลดประมาณการมูลค่าส่งออกติดลบ 10.3%จาก-8.8%พร้อมปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 8ล้านคนจาก15ล้านคน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 80% ในปีนี้ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง ซึ่งจะเห็นการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ในครึ่งหลังของปีนี้และในปีหน้า  เมื่อการพัฒนาวัคซีนคืบหน้าและจะแพร่หลายในปีหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนแนวโน้มติดลบ 13%จาก-4.3%และการบริโภคติดลบ 3.6% จาก-1.5%เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้การจ้างงานและรายได้มีแนวโน้มต่ำ
"เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มถึงจุดต่ำสุด ในไตรมาสที่สองของปีนี้ โดยมีโอกาสที่จะเห็น เป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจาก โควิด-19ซึ่งส่งผลต่อภาคธุรกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน ส่วนตัวเลขประมาณจีดีพีทั้งปีจะติดลบ8.1%นั้น เป็นระดับการเติบโตที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งปี2540วิกฤติต้มยำกุ้งจีดีพีไทยติดลบ 7.6%"
           ทั้งนี้  ธปท. ได้คำนึงถึงมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และติดตามผลจากมาตรการต่างๆ รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก มีแนวโน้ม รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด   
อย่างไรก็ดีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและยังคงโน้มไปด้านต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าคาดแต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวนั้น ขึ้นอยู่ 2ปัจจัยคือ  อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ และในที่ประชุมได้พูดถึงผลกระทบโควิดต่อโครงสร้าง  ต่อรูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน ฉะนั้นการดำเนินมาตรการทางด้านอุปทานเพื่อทำให้ทุกภาคส่วนมีการปรับตัวเข้าสู่บริบทของโลกใหม่ที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป  หากก้าวข้ามช่วงนี้ไปได้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะเข้มแข็งขึ้น หากใช้โอกาสนี้ปฎิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันการใช้นโยบายกระตุ้นดีมานด์ นโยบายการเงินการคลังจะช่วยด้านอุปสงค์ส่วนหนึ่ง 
ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังนั้น ยังคงเห็นจีดีพีติดลบแต่เป็นการติดลบที่น้อยลงเรื่อยๆก่อนจะขยายตัวเป็นบวกในปีหน้า  เพราะผลกระทบจากโควิดรุนแรง และไตรมาสสองของปีนี้มีโอกาสเศรษฐกิจไทยจะติดลบลึกมาก 
     อย่างไรก็ตาม  คณะกรรมการมีความกังวล ต่อการแข็งค่าของเงินบาท เพราะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคเศรษฐกิจต่างประเทศโดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มช่วงที่เหลือ ดุลบัญชีเดินสะพัด จะเกินดุลลดลงในระยะสั้น โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีจะลดเป็น 15.5พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดิมคาดไว้ที่ 19.4พันล้านดอลลาร์สหรัฐและจะเกินดุลเพิ่มขึ้นในปี 2564  แต่จากการที่ หลายประเทศในต่างประเทศ มีการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี) อาจจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาพักบ้าง