“เทวัญ”ตั้งกรรมการ 10 คน สอบ“อสมท”แบ่งครึ่งชดเชยคลื่น 2600

24 มิ.ย. 2563 | 12:14 น.

“เทวัญ”เซ็นคำสั่งตั้งกรรมการ 10 คน สอบปม “อสมท” แจ้งเยียวยาค่าคลื่น 2600 ให้เอกชนครึ่งหนึ่ง ถือเป็นการรักษาผลประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ ขีดเส้น 20 วันแล้วเสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่  22 มิถุนายน 2563 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือ การจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz

 

โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และคณะจำนวน 20 คน ได้ยื่นหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ณ จุบริการประชาชน 1111 ศูนรับเรื่องราวร้องทุข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายทวัญ ลิปตพัล รัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นข่าวที่ปรากฎผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ กรณีมีการนำเสนอข่าวว่าผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสนอแบ่งสัดส่วนเงินชดเชยคลื่นความถี่ 2600 MHz ให้แก่เอกชนคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง และสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ (Hot issue) จึงเห็นควรพิจารณามอบหมาย นายเทวัญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแล บมจ.อสมท เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ

 

ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการ กรณีการแจ้งยืนยันรายละเอียด และสัดส่วนการชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่ถูกต้อง และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำกับดูแลให้ บมจ. อสทม ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และอำนวยประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง บมจ. อสมท

 

อาศัยอำนาจตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 165/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 169/2562 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และบัญชาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ในบันทึกข้อความ ที่ นร. 0107.04/4152 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2563

 

 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ ดังต่อไปนี้

 

1. ผู้ตรจวราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

มีกรรมการประกอบด้วย  

 

2. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด

 

3.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

4.ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

5. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

6. ศาสตราจารย์นันทวัฒน์ บุรมานันท์

 

7. ผู้อำนวยการส่วนกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

 

8. ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ  เป็นเลขานุการ

 

9. เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ  ที่ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ มอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

10. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ  เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ คือ

1.ตรวจสอบข้อเท็จจริง เอกสาร การดำเนินการ มาตรการ และหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz ว่ามีข้อเท็จจริงและขั้นตอนอย่างไร เป็นการดำเนินการที่ชอบตัวด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือไม่ เป็นการรักษาผลประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวด้วย

 

2.เรียกเอกสารหรือพยานหลักฐาน และเรียกพนักงาน ลูกจ้างหรือบุคคลต่างๆ มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ

 

3.รวบรวมข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว วิเคราะห์ ประมวลผล เสนอแนะ และสรุปผลการดำเนินการ

 

4.ดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็นหรือตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจบรรลุผลสำเร็จ

 

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการรับทราบคำสั่ง ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาได้ ให้คณะกรรมการ รายงานเหตุที่ทำให้การดำเนินการไม่แล้วเสร็จต่อผู้มีคำสั่งแต่งตั้ง เพื่อให้พิจารณาขยายระยะวลาดำเนินการตามความจำเป็นครั้งละไม่เกิน 20 วัน จนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ แล้วสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเสนอความเห็นต่อผู้มีคำสั่งแต่งตั้งมาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป