ก.อุตฯ ดึงแอพฯดัง “GET” - “Antz” – “QueQ” ช่วย “Food Truck” ขายเดลิเวอรี่

24 มิ.ย. 2563 | 11:25 น.

ก.อุตสาหกรรมดึงแอพพลิเคชันดัง “GET” - “Antz” – “QueQ” ช่วย “ฟู้ดทรัค” ขายเดลิเวอรี่ ตอบโจทย์การขายแบบเคลื่อนที่

กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาโครงการ Cloud Kitchen Food Truck ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเคลื่อนที่ หรือ "ฟู้ดทรัค" (Food Truck) ผ่านการขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “กสอ.” เชื่อมโยง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ผ่านการพัฒนาทักษะการสร้างแบรนด์และการบริหารยอดสั่งซื้อ ดิจิทัลแพลทฟอร์ม หรือแอพพลิเคชันเดลิเวอรี่ โดยสร้างความร่วมมือในการปรับฟังค์ชันก์ให้รองรับการบริการของธุรกิจอาหารเคลื่อนที่ และ ผู้รับจ้างขนส่งสินค้า/อาหาร (Rider) โดยเฉพาะคนว่างงานให้มีรายได้จากการส่งอาหาร

                นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถช่วยผู้ว่างงานได้กว่า 1,000 คน สร้างรายได้และยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้กว่า 30% หรือ 5,000 บาท/เดือน  คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท  โดยเบื้องต้นมีแพลตฟอร์มให้ความสนใจเข้าร่วม เช่น เก็ท (GET) แอ็นซ์ (Antz) และคิวคิว (QueQ) เป็นต้น

ก.อุตฯ ดึงแอพฯดัง “GET” - “Antz” – “QueQ” ช่วย “Food Truck” ขายเดลิเวอรี่

                ทั้งนี้  กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิสาหกิจกลุ่มไมโคร หรือ Micro SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ประกอบการ ฟู้ดทรัค จึงพัฒนาโครงการ Cloud Kitchen Food Truck ยกระดับธุรกิจสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เดลิเวอรี่  โดยได้หารือผู้ประกอบการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ผ่านการนำเสนอให้เพิ่มฟังค์ชันก์สำหรับการระบุพิกัดร้านค้าที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากเดิมที่กำหนดให้ร้านค้าที่เข้าร่วมต้องอยู่ในที่ตั้งเท่านั้น เพื่อให้เข้ากับรูปแบบธุรกิจร้านอาหารหรือร้านค้าที่เคลื่อนที่ 

               

อย่างไรก็ดี กสอ. ได้ดำเนินการผลักดันต้นแบบของการเชื่อมโยง Cloud Kitchen Food Truck ของผู้เกี่ยวข้องใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ผ่านกระบวนการพัฒนาแบรนด์สินค้าให้มีความเข้มแข็ง  เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจนจำร้านค้าและสามารถสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชั่นได้ถูกต้อง รวมทั้งพัฒนาทักษะการบริการจัดการยอดสั่งซื้อสินค้า ให้สามารถบริการได้ตามความต้องการของลูกค้าหน้าร้านและลูกค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการฟู้ดทรัคเข้าร่วมกว่า 100 กิจการ

                2.ดิจิทัลแพลทฟอร์ม หรือ ผู้ประกอบการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ ผ่านการเพิ่มความร่วมมือในผู้บริการอื่นๆ เพื่อให้มีฟังค์ชันก์ที่รองรับรูปแบบของธุรกิจร้านอาหารที่เคลื่อนที่  พร้อมหารือเพื่อการตกลงส่วนแบ่งทางการตลาดที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ก.อุตฯ ดึงแอพฯดัง “GET” - “Antz” – “QueQ” ช่วย “Food Truck” ขายเดลิเวอรี่

                และ3.ผู้รับจ้างขนส่งสินค้า/อาหาร (Rider) โดยเน้นที่กลุ่มคนว่างงาน เพื่อสร้างรายได้ในการให้บริการรับส่งอาหารและพัสดุต่างๆ โดยที่ กสอ. จะพัฒนาความรู้และทักษะในการบริการและการบริหารยอดสั่งซื้อ รวมทั้งทักษะการใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ในการให้บริการ  โดยตั้งเป้าหมายสร้างอาชีพใหม่ให้กับ 1,000 คน
 

นายกอบชัย กล่าวต่อไปอีกว่า กสอ. ได้กำหนดพื้นที่นำร่องทดลองระบบ Cloud Kitchen Food Truck จัดกิจกรรมคาราวานฟู้ดทรัคในพื้นที่ 4 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1.กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 24-26 มิถุนายน 63 ,2.สยามดิสคัฟเวอรี่ พลาซ่า วันที่ 24-30 มิถุนายน 63 ,3. เดอะสตรีท รัชดา วันที่ 2-8 กรกฎาคม 63 และ4.อิมแพคเมืองทองธานี วันที่ 10-16 กรกฎาคม 63  เพื่อทดลองให้บริการจริง และเก็บข้อมูลรวมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องของการบริการให้มีความพร้อมรองรับการขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่หัวเมืองต่าง ๆที่มีการให้บริการของแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเคลื่อนที่ในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท 

                สำหรับที่ผ่านมา กสอ. ได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคผ่าน มาตรการส่งเสริม “สมาร์ทโฟร์ฟู้ดทรัค” (SMART 4 Food Truck)  โดยให้การสนับสนุนใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ คน ครัว รถ และตลาด ทำให้ฟู้ดทรัค มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 63 พบว่ามีจำนวนรถฟู้ดทรัคมากกว่า 2,000 คันทั่วประเทศ โดยสัดส่วนในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 33% และกรุงเทพฯ 65% แบ่งเป็นอาคารคาว 60% อาหารหวาน 25% และเครื่องดื่ม 15%