คนไทยจะเจออะไร กับงบ "กระตุ้นเศรษฐกิจ" 4 แสนล้าน ที่มีแต่การสร้างถนน?

24 มิ.ย. 2563 | 08:51 น.

"ศุภวุฒิ สายเชื้อ" นักเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตั้งคำถามชวนให้ร่วมกันฉุกคิดเกี่ยวกับ อนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย บนเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “อีก 150 วัน คนไทยจะเจออะไร กับ งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน ที่มีแต่การสร้างถนน?” จัดโดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้

- - - - - - 

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมคิดว่าประเทศไทยต้องตั้งโจทย์ให้ถูกต้อง ซึ่งถ้าพยายามรวบรวมแนวคิดก็จะเห็นว่า ประเทศไทยมีอยู่ 4 อย่าง คือ FAAT

F คือ food

A คือ aging

A คือ automobiles

T คือ tourisms

สำหรับเรื่องแรก Food

คือ ภาคการเกษตร สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่าประเทศไทยใช้ที่ดิน 50% เพื่อการเกษตร แต่ GDP ที่มาจากภาคการเกษตรแค่ 8% อันนี้ก็ผิดแล้ว เพราะใช้ทรัพยากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแต่กลับได้ผลตอบแทนแค่ 8% เท่านั้น

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญๆ อยู่ 5 อย่าง คือ มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง สัปปะรดกระป๋อง ข้าว น้ำตาล

ใน 5 อย่าง เป็นแป้งกับน้ำตาลไปแล้ว 3 อย่าง พวกเราใครอยากจะทานแป้งกับน้ำตาลบ้าง? ไม่ค่อยมีใครอยากเพราะเรารู้ว่าเราน้ำหนักมาก เราจะเริ่มแก่ เริ่มสุขภาพไม่ดี แม้กระทั่งสินค้า อย่างเช่น ปลาทูน่ากระป๋อง หรือสับปะรดกระป๋อง ก็เป็นการส่งออกที่ margin ต่ำมาก ยังไงก็ต้องเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือเรื่อง Food

เรื่องที่ 2 Aging

การแก่ตัวของประชากรประเทศไทย จากการนำเสนอข้อมูลสมาคมผู้ส่งออกอาหารสหรัฐอเมริกา ได้ประเมินประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่เข้าสู่ยุคประชากรสูงอายุ แม้ยังมีรายน้อยและยังยากจนอยู่มาก ซึ่งมีตัวเลขที่ทำให้เห็นว่าจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน ลดลง ต้องเพิ่มผลิตภาพ

คนไทยที่อยู่ในวัยแรงงาน ในปี 2000 เคยมีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 30.1 ปี ตอนนี้อยู่ราว ๆ 38 ปี และอีก 10 ปีต่อไปคงอยู่ราว ๆ 41.8 ปี คนไทยก็แก่ลง พวกเราก็รู้ตัวกันนะว่า ตอนอายุ 30 แข็งแรง ทำอะไรได้ทุกอย่าง ตอนอายุ 40 ก็ถอยๆ แล้ว ประเทศเราก็กำลังจะเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเรื่อง  aging ต้องถามว่าจะทำยังไงต่อไป

 เรื่องที่ 3 Automobiles

เป็นเรื่องที่กล่าวกันว่าเป็นจุดเด่นของเรา แต่ผมต้องขอบอกว่า เราอย่าเป็น Detroit of Asia เลย

หากดูข้อมูลค่าหุ้น ของ Detroit ได้แก่ General Motor, Flat Chrysler, Ford  มูลค่าขอหุ้น 3 ตัวรวมกันยังไม่เท่า Tesla ที่พึ่งเข้าตลาดหุ้นได้ไม่ถึง 20 ปี ซึ่ง 3 บริษัทนั้นเข้าตลาดหุ้นมาเป็นร้อยปี เพราะว่า เทคโนโลยีมันผิด

เทคโนโลยีที่สำคัญตอนนี้ จะเห็นว่ากำลังมีการวิจัยเรื่องแบตเตอรี่โซเดียมไอออน (sodium-ion) ซึ่งราคาถูกกว่าลิเธียม (Lithium-Ion) และถ้าทำสำเร็จในอนาคตรถยนต์จะกลายเป็นรถไฟฟ้าหมด อีกอย่างหนึ่งคือ Tesla ร่วม CATL กล่าวว่ากำลังจะผลิต ลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ ที่สามารถใช้งานได้ถึง 1 ล้านไมล์ หรือ 1.6ล้านกิโล เห็นได้เลยว่าอนาคตรถที่ท่านใช้อยู่ปัจจุบันจะไปขายได้อย่างไร ต้องถามตัวเองว่าเราจะพลิกตรงนี้ไปได้อย่างไร

เรื่อง 4 Tourisms การท่องเที่ยว

ตอนนี้เหลือ 0 เลย ไตรมาส 2 ไตรมาส 3 รายได้จากการท่องเที่ยวแทบไม่มี ถ้าฟังตามที่รัฐบาลพูด ก็คาดหวังว่า ไตรมาส 4 จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาบ้าง แต่รัฐบาลก็บอกว่าจะจำกัดอยู่ที่ 1 พันคนต่อวัน คำนวณเร็วๆ จะอยู่ที่ 100 วันจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 1 แสนคน

โดยปกติประเทศเราจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ไตรมาสละ 10 ล้านคน ฉะนั้น เท่ากับประเทศเหลือรายได้จากการท่องเที่ยวเพียง 1% เท่านั้น จากเดิมรายได้จากการท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศคิดเป็น 12-15% ของ GDP ไทย รายได้ส่วนนี้จะหายไปเลย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจต่าง ๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง KKP แนะรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ขณะนี้แบงก์ชาติให้หลายธนาคารผ่อนปรนลูกหนี้ที่คิดว่าจะมีปัญหา และมีลูกหนี้เข้าร่วมเข้าร่วมรายการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่มีการปรับโครงสร้างอะไร

ประเด็นสำคัญคือ มีผู้เข้าร่วมโครงการนี้มีทั้งหมด 15 ล้านคน มูลค่าหนี้ คือ 6.8 ล้านล้านบาท หรือกว่า 1 ใน 3 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ

ลองนึกภาพนะครับ คนกว่า 1 ใน 3 หรือ มูลหนี้กว่า 1 ใน 3 หยุดพักชำระดอกเบี้ยและหยุดคืนเงินต้น ไม่มีความสามารถในการทำสองอย่างนี้  แบงก์ชาติให้พักไปประมาณ 6 เดือน จากเดือนเมษายน คำถามคือตอนที่กลับมาประมาณปลายปี หรือ อีก 150 วันข้างหน้า ต้องประเมินแล้วว่า ในกลุ่มนี้ ใครจะใช้หนี้คืนได้บ้าง

ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นและถ้าเกิดปัญหา สามารถแบ่งได้ว่าในจำนวน 1 ใน 3 ของกลุ่มลูกหนี้นี้ มีลูกหนี้ที่เป็นประชาชนหรือหนี้ส่วนบุคคล 13.9 ล้านคน ธุรกิจ 1.1 ล้านธุรกิจ ในจำนวนนี้มีธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่พันราย ที่เหลือเป็น SME ทั้งหมดเลย และหนี้ของ SME กว่า 1 ล้านราย มีมูลค่าหนี้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท แล้ว 2 ล้านล้านบาท มีมาตรการอะไรรับมือบ้าง

แบงก์ชาติมีมาตรการปล่อย SME Soft Loan 5  แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่เห็นได้ว่าไม่เพียงพอ นอกจากนั้น จำนวนตัวเลขสินเชื่อที่ปล่อยได้จริงมีเพียง 73,716 ล้านบาทเท่านั้น อันนี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง และมันคือระเบิดเวลา รอถึงว่าถึงวันนั้น จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่าก็ยังไม่มีคำตอบ

ส่วนคำตอบของรัฐบาลที่เห็นคือ งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท จะเห็นว่า เน้นเรื่องถนน และการก่อสร้าง ซึ่งไม่แน่ใจว่าตรงกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญในกรณีนี้คือ รัฐให้มีการนำเสนอโครงการมามากมายกว่า 3 หมื่นกว่าโครงการ แต่ภาพใหญ่กลับชี้แจงอย่างชัดเจนว่า จะนำพาประเทศไปในทางไหน ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อเราไม่รู้จะไปทางไหนก็เท่ากับเราก็จะหลงทาง และผมก็เกรงว่าประเทศจะหลงทาง

แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะนำเสนอ ซึ่งเป็นความฝันส่วนตัวคือ อยากให้ประเทศไทยพลิกผัน ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง ปรับโครงสร้าง ให้เป็นประเทศที่ถูกกล่าวขวัญว่าเป็นประเทศที่เกี่ยวข้องกับ Wellness คือ ความสมบูรณ์ อยู่ดี มีชีวีตที่ดี อยากให้เขาเรียกเราว่า “Blue Zone for Longevity”

อยากให้คนเขากล่าวถึงประเทศไทยในอนาคตว่า คนที่อยู่ในประเทศไทยคาดการณ์ได้ว่าจะมีความสุข มีสุขภาพที่ดี และมีอายุยืน เหมือนที่เขากล่าวว่าประเทศไทยเป็น Land of Smile ซึ่งสิ่งที่ผมต้องการไม่เพียงแค่  Smile แต่ต้องให้  Happy และ  Health ด้วย

แล้วก็อยากให้เขาพูดด้วยว่า "ประเทศไทย คนไทย สามารถที่จะรับเอาความเป็นไฮเทค (hi-tech) มีความสามารถทางด้านไฮเทคขึ้นมา โดยไม่ได้สูญเสียความเป็นไฮทัช (hi-touch) คือ ความอัธยาศรัย ไมตรีที่ดีของคนไทยต้องยังมีอยู่"

 ในเรื่อง wellness ประเทศไทยต้องมีทั้งการวิจัย มีการเรียนรู้ รับรู้กันโดยทั่วไป มีทั้งการใช้ชีวีตอย่าง  wellness จริงๆ และสามารถไปเผื่อแผ่ไป Caring ก็ได้ อันนี้ก็คือ  Medical Tourism ที่อยากจะเห็น

เรื่องสุดท้ายที่จะพูดคือ อยากเห็นอนาคตประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโรงพยาบาลดีที่สุดในโลก มีหมอ มีพยาบาล มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ มีมหาวิทยาลัยดี ๆ  MIT, John Hopkins, Stanford มาตั้งแคมปัส ผลิตบุคลากรด้านสุขภาพที่เมืองไทย ให้ WHO สำนักงานใหญ่ของเอเชียจากอินเดียมาเมืองไทยดีกว่า เป็นต้น

ที่ห่วงคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะรถไฟฟ้ามีชิ้นส่วนที่สึกหรอได้เพียง 20-30 ชิ้น แต่รถยนต์ที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันมี 2 พันกว่าชิ้น และประเทศไทยส่วนใหญ่มีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผมอยากจะให้ตรงนี้ เปลี่ยนมาเป็นผลิตชิ้นส่วนด้านการแพทย์ เรื่องของสุขภาพ

อยากให้ประเทศไทยย้ำ ว่าเราต้องเป็นประเทศไทยที่มี Good living health care อยากจะให้เป็น  Environmentally Friendly Tourism, Medical Tourism และต้องไม่ทิ้งเรื่องนวดแผนโบราณ ยาแผนไทย และอื่นๆ ก็ทำได้ ปัจจุบันเข้าใจว่าประเทศไทยอยู่ Top 20 ด้านสปา ด้านการนวด อยากให้เราอยู่ใน Top 5 ไม่ใช่ Top 20

อู่ตะเภา นี่สงสัยว่าจะต้องมีสนามบินอีกอันทำไม เพราะว่าการท่องเที่ยวจาก 40 ล้าน ปีนี้น่าจะเหลือไม่ถึง 10 ล้าน อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นสนามบินสำหรับ VIP เศรษฐีต่างประเทศ มาทำ Medical Tourism หรือไม่ เป็นต้น

ข้อเสนอสุดท้าย คือ อยากจะเอาทุนสำรองของแบงก์ชาติ แค่ 1% ที่มีอยู่ คือ 7 หมื่นกว่าล้าน ให้รัฐบาลออกพันธบัตร เป็นพันธบัตรไทย ดอกเบี้ย 0.01% จ่ายคืนเงินต้นร้อยปี ต้นทุนที่รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยเพียง 7 ล้านบาทต่อปี

สิ่งนี้จะทำให้มีทุนให้กับเด็กไทย ได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ อย่างน้อย 250 ทุนต่อปี ไปอีก 20 ปีจำนวนกว่า 5 พันทุน แต่ละทุนมูลค่า 14.9 ล้านบาท ซึ่งสามารถส่งให้เด็กไทยเรียนหมอ จบหมอจากมหาวิทยาลัยดีๆ ในโลกได้เลย แล้วให้มาพัฒนาประเทศไทย มาขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เป็นประเทศ  Wellness ของโลกครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: เฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย

รับฟังเต็มๆ ที่