อุ้ม15ล้านราย สกัดหนี้เสียพุ่ง วอนธปท.รื้อเกณฑ์ลดดอกยืดจ่าย

26 มิ.ย. 2563 | 03:30 น.

แบงก์เกอร์ เล็งชงธปท.รื้อใหญ่โครงสร้างหนี้ หวังช่วยรายย่อย 15.2 ล้านรายโงหัว! หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือโควิด-9 แนะ “รวบบัญชีเหลือก้อนเดียว ยืดเวลาชำระ ลดดอกเบี้ย “เป็นทางออกก่อน ติดบ่วงเอ็นพีแอล ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมั่นใจ มีสภาพคล่อง-เงินกองทุน แกร่งเพียงพอรองรับ

มาตรการป้องกันและเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทั้งการสั่งให้ธนาคารทำทดสอบความสามารถรับวิกฤติและทำแผนประเมินระดับเงินกองทุนในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยกำหนดให้นำส่งปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุน รองรับความไม่แน่นอนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมีความกังวลต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ที่อาจจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เหมือนเดิม และส่งผลให้เกิดเป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ในที่สุด

NPLในระบบ4.9 แสนล.

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุน 19.17% ซึ่งนโยบายทั้งงดจ่ายปันผลและงดซื้อหุ้นคืน เป็นมาตรการดูแลเงินกองทุนให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบ โดยปีที่แล้วธนาคารพาณิชย์ไทยจ่ายเงินปันผลไป 78,278 ล้านบาท คิดเป็น 2.7% ของเงินกองทุน หรือหากเทียบกำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 30% ของกำไรสุทธิ 2.53 แสนล้านบาท โดยธปท.แนะนำให้เก็บสัดส่วน 30%ไว้ เป็นเงินกองทุนแข็งแกร่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่วนแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลนั้น ขณะนี้ยังยากต่อการประเมิน เนื่องจากเอ็นพีแอลในระบบที่มีอยู่ 4.96แสนล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ(ลูกหนี้Stage2)มี 1.254 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้รวมหนี้ของภาคธุรกิจอยู่ด้วย 8.94 แสนล้านบาท แต่รายย่อย มี 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมลูกหนี้ Stage2 และ Stage3 หรือกลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non-performing loan: NPL ทั้งระบบมี1.57 ล้านล้านบาท

ขณะที่มีเงินกองทุน 2.9 ล้านล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอล(Stage3) คิดเป็น 17%ของเงินกองทุน อยู่ที่ประมาณ 19.% สามารถรองรับเอ็นพีแอล ได้21% โดยไม่ต้องเพิ่มทุน ซึ่งเพียงพอที่จะเข้าสู่วิกฤติด้วยความพร้อมในแง่ Stage2 หากอยู่ในโปรแกรมช่วยเหลือของธปท. ก็จะทำงานร่วมกับธนาคารไม่ให้สัดส่วนหนี้แต่ละชั้น ไหลไปเป็นเอ็นพีแอล โดยธปท.และธนาคารพาณิชย์ จะต้องร่วมกันทำงาน เพื่อชะลอและประคองเอ็นพีแอลไม่ให้สูงขึ้นไป

 

ช่วยลูกหนี้15ล.ราย

สำหรับแนวทางเชิงป้องกันและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของธปท.เป็นมาตรการคิดนอกกรอบและเริ่มค่อนข้างเร็ว สามารถตอบสนองในช่วงประชาชนยากลำบากได้ สะท้อนจากจำนวนลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการช่วยเหลือหรือมาตรการพักหนี้ถึง 15.2 ล้านราย สิ่งที่น่าห่วงคือ ลูกหนี้่เหล่านี้ แต่ละคนต้องการทางออกของปัญหารายบุคคล ซึ่งเป็นความท้าทาย ก่อนที่ลูกหนี้จะครบมาตรการช่วยเหลือภายในปลายปีนี้

“เมื่อจบมาตรการ จะทำอย่างไรให้มีความเป็นธรรมและช่วยเหลือประชาชนได้ เพราะลูกหนี้ 1 รายจะมีเจ้าหนี้หลายราย ลูกหนี้บางรายอาจมีหลักประกัน หรือเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นเพื่อลดปัญหา จึงเสนอแนวคิดในการรวมหนี้ เพื่อลดดอกเบี้ยจากหลักประกันที่มี ทั้งเพื่อให้ลูกหนี้มีคุณภาพดีขึ้น ไม่ถูกทวงหนี้จากหลายสถาบันการเงิน เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ในรอบนี้มีจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย”

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจาก 28% เหลือ 25% ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง แต่หากลูกหนี้มีสินเชื่อบ้านกับอีกแบงก์ และมีวงเงินเหลือในส่วนนี้ น่าจะรวมหนี้กัน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยได้ โดยมีหลักทรัพย์คํ้าประกันเข้ามาช่วย


อุ้ม15ล้านราย  สกัดหนี้เสียพุ่ง  วอนธปท.รื้อเกณฑ์ลดดอกยืดจ่าย

โควิดรอบ2 NPLพุ่ง

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า หากพิจารณาจากฐานะเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์นั้นมองว่า ภาพรวมยังไม่น่าเป็นห่วง โดยเห็นได้จากเดือนเมษายนมี 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 18.9% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นตํ่าของธปท.และเงินกองทุนชั้นที่1 ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 15.84% คิดเป็น 2.2 ล้านล้านบาท โดยระดับเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจนั้นอยู่ที่ 10% สามารถขยายสินเชื่อได้อยู่แล้ว ดังนั้น กว่าเงินกองทุนจะลดถึงระดับนี้ ยังห่างกันมาก โดยที่สัดส่วนสำรองมีอยู่ต่อเอ็นพีแอล 140%

“แนวโน้มปีนี้ ยังยากต่อการประเมินเงินกองทุน แต่ภาพรวมเชื่อว่า ไม่แย่ แต่สิ่งที่ตลาดกังวล ถ้าเกิดการระบาดโควิดรอบ 2 อาจทำให้เอ็นพีแอลหรือหนี้จัดชั้นระดับ2 เพิ่มขึ้นเป็นเอ็นพีแอล จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระกันสำรองที่สูง แต่ถ้าเงื่อนไขทั้งธปท.และธนาคารพาณิชย์ยังคงดำเนินการช่วยเหลืออยู่ในปีนี้และปีหน้าเชื่อว่าคุณภาพสินเชื่อจะกลับมาดีขึ้นและไม่ส่งผลเช่นทุกคนกังวล”

นอกจากนั้น ยอดคงค้างของสินทรัพย์สภาพคล่องภายในประเทศไทยอยู่ในระดับสูง 4.38 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 1.84 เท่าของประมาณการเงินสดไหลออกสุทธิระยะสั้น(30วัน) และสินทรัพย์สภาพคล่องได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 3.7ล้านล้านบาท และสำรองต่อเอ็นพีแอลอยู่ที่ 140%(เอ็นพีแอล 100บาทมีกันสำรองครอบคลุม 140บาท) จึงอยากให้มั่นใจได้ว่าระบบแบงก์และทางการได้ร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งสภาพคล่อง เงินกองทุนพร้อมรองรับช็อคเอ็นพีแอล

ทั้งนี้ มองว่า การดำเนินมาตรการล่วงหน้า (โปรแอคทีฟ) ของธปท. ถือว่าถูกทาง ทั้งการสั่งให้ธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมความพร้อม ทั้งระมัดระวังความเสี่ยงในการกระจายตัวในการปล่อยสินเชื่อและทดสอบภาวะวิกฤติทั้งภาวะปกติและเลวร้ายรวมถึงความพยายามดูแลระดับเงินกองทุนอย่างต่อเนื่อง

 

เชื่อแบงก์ยังแข็งแกร่ง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า มาตรการที่ออกมา ไม่ใช่เพราะสถานการณ์น่าเป็นห่วง ซึ่งหากสถานการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายปันผลรวบยอดไปสิ้นปีได้

นายภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยอมรับว่าธปท.ออกคำสั่งนี้มาเพื่อป้อง กันไว้ก่อน ในภาวะที่อะไรๆ ยังไม่แน่นอนขณะนี้เพราะอาจจะมีโควิด รอบ 2 อีกหรือไม่ก็จะทำให้ความแข็งแกร่งของแบงก์น่าจะมีความน่าเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563