ฉกเงินกู้ 4 แสนล้าน โครงการ ‘อึ้ง ทึ่ง เสียว’

23 มิ.ย. 2563 | 12:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3586 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-27 มิ.ย.63  โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ฉกเงินกู้ 4 แสนล้าน

โครงการ ‘อึ้ง ทึ่ง เสียว’

 

          โหมดการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการยื่นเสนอขอใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท กำลังดำเนินการอย่างคึกคัก

          วันที่ 5 มิ.ย. 2563 ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้  1 ล้านล้านบาท ออกมาชี้แจงว่า มีหน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการเข้ามาแล้ว 28,425 โครงการ วงเงิน 590,000 ล้านบาท

          พอถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ปรากฏว่า มีหน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท รวม 34,263 โครงการ วงเงินรวม 841,269 ล้านบาท

          โครงการทั้งหมดที่เสนอขอใช้เงินกู้แบบ “ใช่เลยมีประโยชน์ ตอบโจทย์จริงๆ” แยกออกเป็น 3 แผน

          แผนงานการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยกระดับการค้า การผลิต ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้า ลงทุน ท่องเที่ยวและบริการมีการขอไว้ 164 โครงการ วงเงิน 284,302 ล้านบาท

          แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ขอกันมากถึง 33,798 โครงการ วงเงิน 465 023 ล้านบาท

          แผนงานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนกระบวนการผลิต เสนอโครงการใช้เงิน 301 โครงการ 91,942 ล้านบาท

          ขณะที่แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ยังไม่มีการยื่นขอ แต่กระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยกำลังจัดทำคำขอ

          เมื่อตรวจสอบลงไปในรายละเอียดพบว่า หน่วยงานราชการใน 13 กระทรวงและ 4 หน่วยงาน ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เสนอตั้งโครงการที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางฐานรากเชิงโครงสร้างเสนอมา 115 โครงการ วงเงิน 168,889 ล้านบาท

          สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้เปิดให้เสนอโครงการรอบ 2 ออกไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2563 นี้ โดยตามไทม์ไลน์แล้วคณะกรรมการ อนุกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ที่มีอยู่ 3 ชุด รวม 42 คน จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 20 วัน

          เท่ากับว่าคณะกรรมการ อนุกรรมการจะต้องพิจารณาโครงการกันทั้งหมดวันละ 1,713 โครงการ โดยเงินกู้ 4 แสนล้านบาทนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 4 แผนงาน

          3.1) แผนงานลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

          3.2) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน

          3.3) แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนและเอกชน

          3.4) แผนงานสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

          หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยสภาพัฒน์อิงแอบกับเกณฑ์ข้อ 13 ของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ แล้ว ยังกำหนดว่า ต้องมีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.สร้างการจ้างงาน 2.สร้างอาชีพ 3.เพิ่มมูลค่า 4.เชื่อมโยงผลผลิตของชุมชนกับตลาด 5.เพิ่มศักยภาพในการผลิตและการบริการ 6.กระตุ้นการบริโภค 7. เพิ่มหรือยกระดับการผลิตภายในประเทศ 8.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน

          ใครเข้าหลักเกณฑ์เหล่านี้ คณะกรรมการกลั่นกรองบอกว่า “ใช่เลย มีประโยชน์ ตอบโจทย์จริงๆ” ใครไม่เข้าหลักเกณฑ์นี้ ถูกปัดทิ้งไปเลยไม่มีการยกมาพิจารณาอีก

          ขั้นตอนแรก คณะทำงานอนุกรรมการจะวิเคราะห์โครงการ เปิดให้ประชาชนร่วมกลั่นกรอง ขั้นตอน 2 คณะกรรมการกลั่นกรองฯจะพิจารณา ขั้นตอนสุดท้ายเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณา

          กำหนดคิกออฟทำคลอดโครงการเงินกู้ลอตแรกที่ ครม.จะพิจารณาอนุมัติกันในเดือน ก.ค.นี้ และรอบที่สองที่ขยายเวลาการเสนอโครงการจะเสนอให้ครม.พิจารณษในเดือนสิงหาคม และโครงการสุดท้ายจะต้องทำให้เสร็จก่อนเดือน ธ.ค.2564

          ผมไปเกาะติดโครงการที่ยื่นขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทมาแล้ว “อึ้ง ทึ่ง เสียว” กับการเขียนโครงการของบรรดาข้าราชการ หน่วยงาน และนักการเมืองผู้มากด้วยฝีมือเอามากๆ

          เฉพาะโครงการที่อิงจากคำว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” และ “โควิด-19” มีมากถึง 212 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การสนับสนุนภาคเกษตร การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาเครือข่าวสหกรณ์ การจ้างงาน การสนับสนุนการท่องเที่ยว ตลอดถึงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 

          เฉพาะโครงการที่ขึ้นชื่อว่า “ถนน” เชื่อหรือไม่ มีการตั้งโครงการเข้ามาถึง 10,156 โครงการ 1 ใน 3 ของโครงการทั้งหมด 34,263 โครงการ ถนนที่มีการขอโครงการมีทั้งสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุง พัฒนาเส้นทางขนส่ง ลาดยาง พัฒนาสองข้างทาง

          ผู้ตั้งโครงการเกือบทั้งหมดจะเป็นกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด ระดับตำบล กรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง

          เฉพาะโครงการที่ใช้คำว่า “เกษตร-เกษตรกร-เกษตรกรรม” มีถึง 320  โครงการ โดยผู้ที่ขอโครงการไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ อปท. จังหวัด กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย แต่ขยายวงไปถึงสถาบันอุดมศึกษา ที่ทำโครงการเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกร ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนของเกษตรกร

          เฉพาะคำว่า “การพัฒนายั่งยืน” มีโครงการที่เขียนในเป้าหมายนี้ 201 โครงการ

          เฉพาะคำว่า “ท่องเที่ยว” มีการเขียนโครงการเพื่อบรรเทา เยียวยา พัฒนา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวมีการเขียนโครงการมากกว่า 2,110 โครงการ และไม่จำกัดอยู่เพียงแค่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่แทบทุกกระทรวง ทุกส่วนราชการ

          การเขียนโครงการเพื่อใช้เงินกู้รอบนี้เป็นเบี้ยหัวแตกและต้องการกระจายเงินลงสู่จังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทยมากที่สุด แต่จนถึงขณะนี้มีรายงานว่า โครงการที่ขอโดยจังหวัดอาจะจะมีการตัดโครงการขอใช้เงินกู้ลงมากที่สุดเช่นเดียวกัน เพราะเขียนไปไม่ตอบโจทย์ตามคุณลักษณะ 8 ข้อ

          ล่าสุดสภาพัฒน์ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 1125/ว 3350 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) เร่งทำการประเมินโครงการเบื้องต้น ภายใต้แผนงานที่ 3.2 “แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม” รายจังหวัด รวม 76 จังหวัด ที่เสนอมารวม 750 โครงการให้เร่งจัดทำโครงการฉบับสมบูรณ์และให้เสนอรัฐมนตรีต้นสังกัดเห็นชอบโดยด่วนเพื่อเสนอสภาพัฒน์ในวันที่ที่ 22 มิถุนายน 2562

          ทั้งนี้มีรายงานแบบลึกลับ “ฉบับอึ้ง ทึ่ง เสียว” ว่า คณะกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ที่มี ดนุชาพิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า จังหวัดในภาคเหนือ ผ่านการประเมินโครงการเบื้องต้น 153 โครงการ

          จังหวัดภาคอีสาน ผ่านการประเมิน 191 โครงการ จังหวัดภาคกลาง ผ่านการประเมิน 181 โครงการ จังหวัดภาคตะวันออก ผ่านการประเมิน 91 โครงการ จังหวัดภาคใต้ ผ่านการประเมิน 119 โครงการ จังหวัดภาคใต้ชายแดน ผ่านการประเมิน 15 โครงการ

          นี่ยังไม่นับโครงการของกรมการปกครอง 14,712 โครงการ โครงการของกรมพัฒนาชุมชน 35 โครงการ โครงการของกรมทรัพยากรน้ำ 45 โครงการ โครงการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5,124 โครงการ กรมโยธาธิการและผังเมือง 43 โครงการ

          ตัดอย่างไร แก้ไขตรงไหน คนมหาดไทย นักการเมืองผู้ตั้งเรื่องต้องติดตามด้วยความระทึก เพราะเงินกู้มีแค่ 4 แสนล้าน แต่คนต้องการร่วม 9 แสนล้านบาท...เงินอาจไม่ลงไปตามใจท่านเสียแล้ว!