เอสเอ็มอีไทย ถมไม่เต็ม แก้ไม่ตรงจุด

27 มิ.ย. 2563 | 03:35 น.

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ “SMEs” (เอสเอ็มอี) เป็นกลไกและรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งการจ้างงานที่กระจายไปในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจการ เกษตรไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ จากจำนวน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศกว่า 3.1 ล้านราย มีการจ้างงาน 12-13 ล้านคน และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) อยู่ที่ 1.45 ล้านล้านบาท คิดเป็น 34.7% เมื่อเทียบกับจีดีพีประเทศในไตรมาสแรกปีนี้

อย่างไรก็ตาม จีดีพี เอสเอ็มอีไตรมาสแรกที่มีมูลค่า 1.45 ล้านล้านบาทนั้น หดตัว 3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 หลักๆเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งมีอิทธิพลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี ทำให้เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องเงินทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ

เอสเอ็มอีไทย ถมไม่เต็ม แก้ไม่ตรงจุด

จึงมีความพยายามจากกระทรวงการคลังที่จะจัดสรร เงินกู้ 50,000 ล้านบาทที่เหลือจากวงเงินเยียวยา ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการและกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหา ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งก่อนหน้า นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ระบุว่า เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนก็คือ เอสเอ็มอีที่มีปัญหา ซึ่ง แตกต่างกันทั้งปัญหาเรื่องเงินทุน การตลาด เทคโนโนโลยี การผลิต ดังนั้นจะต้องมาจัดกลุ่มปัญหาเหล่านั้นก่อน เพื่อให้ความช่วยเหลือให้ตรงจุด

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดให้หน่วยงานยื่นขอโครงการ เพื่อใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในกรอบ 4 แสนล้านบาทกลับพบว่า สสว.เพียงหน่วยงานเดียว ยื่นขอใช้วงเงินถึง 150,750 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท และภายหลังได้ปรับลดเหลือ 150,100 ล้านบาท ก็ยังนับว่าสูงอยู่ดี

สำหรับโครงการที่สสว.ยื่นเข้ามาประกอบด้วย โครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อ Digital Transformation ของ SME ไทย จากเดิม 750 ล้านบาทได้ลดลงเหลือ 100 ล้านบาท เนื่องจากปรับระยะเวลาดำเนินการจาก 24 เดือนเหลือเพียง 14 เดือน โดยมีเป้าหมายหลักที่จะช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ได้รับการพัฒนา  Digital Transformation และดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 10,000 ราย

อีกโครงการเป็น การฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินธุรกิจสำหรับ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงิน 50,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยมีเป้าหมายให้เอสเอ็มอี 55,000 รายที่มีศักยภาพและไม่มีสินเชื่อกับสภาบันการเงิน สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง

สุดท้ายที่เป็นโครงการยักษ์คือ การพลิกฟื้นธุรกิจ SME ที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยมีเป้าหมายให้เอสเอ็มอีที่เคยเป็น NPL สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง 110,000 ราย

นายวีระพงษ์ มาลัย  ผู้อำนวยการ สสว.ยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วงเงินที่ขอไปเป็นเพียงตุ๊กตาเบื้องต้น แต่โจทย์สำคัญในปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่ที่วงเงิน แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ไม่ว่าจะด้วยระบบใดก็ตาม และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย

การออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จะต้องเร่งให้เกิดผลโดยเร็ว ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ เพื่อให้เงินหมุนเวียนและเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ แต่โครงการที่สสว.ยื่นมา ไม่เพียงจะสูงมาก แต่ยังต้องใช้เวลาดำเนินงานถึง 7 ปี ซึ่งบางส่วนสามารถขอจัดสรรจากเงินงบประมาณปกติได้ ซึ่งแต่ละปีก็ไม่น้อยทีเดียว แถมยังเงินจาก  กองทุนอีก ซึ่งล่าสุดได้อนุมัติวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเอสเอ็มที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินเช่นกัน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25-27  มิถุนายน พ.ศ. 2563

เอสเอ็มอีไทย ถมไม่เต็ม แก้ไม่ตรงจุด