ป.ป.ท. เข้ม เฝ้าระวังใช้งบ พ.ร.ก.กู้เงิน หลังพบจัดซื้อจัดจ้างผิดปกติ

22 มิ.ย. 2563 | 12:14 น.

ป.ป.ท.เคลื่อนกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่าย งบ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 มาตรการเข้ม หลังพบจัดซื้อจัดจ้างผิดปกติ ชวนประชาชนร่วมแจ้งเบาะแส ยัน ทุกเรื่องที่ร้องเรียนจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด

ด้วยจำนวนเม็ดเงินมหาศาลที่รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อนำมาใช้กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในขณะนั้นถูกจับจ้องจากหลายภาคส่วนในการบริหารจัดการงบประมาณก้อนมหึมานี้ที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญต้องไม่มีเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง    

ความคืบหน้าล่าสุดในวันนี้ (22 มิถุนายน 2563) พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยถึงผลประชุมคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า รัฐบาลได้กำหนดกลไก 4 เรื่องเพื่อเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อให้งบประมาณมีการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และทุกโครงการต้องปราศจากการทุจริต โดยมีกลไกเฝ้าระวัง 4 ด้าน คือ

1.การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส

2.การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต

3.การตรวจสอบข้อเท็จจริง

4.การดำเนินมาตรการทางปกครอง วินัย อาญา โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็ว เด็ดขาดและเป็นธรรม

สำหรับกลไกดังกล่าวนั้น สามารถดำเนินการได้ทันทีพร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ท. โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของแต่ละโครงการที่ได้รับการร้องเรียน จากนั้นจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและตรวจสอบการทุจริตอย่างเข้มงวดต่อไป อาทิ ป.ป.ช., สตง., สตช., กอ.รมน. โดยทุกเรื่องที่มีการร้องเรียนจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด หากตรวจสอบโครงการใดแล้วพบว่า มีการทุจริตก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง วินัยและอาญา ทางสำนักงาน ปปท.จะติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและรายงานต่อ ศอตช.ต่อไป

ขณะเดียวกันหากพบผู้กระทำความผิดก็จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดพร้อมยืนยันการบูรณาการหลายหน่วยงานจะไม่มีผลทางการปฎิบัติอย่างแน่นอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สกัดโกง “พรก.เงินกู้" วิษณุ เรียกถกด่วนวันนี้

สกัดโกง "เงินกู้" 1ล้านล้าน ฟื้น "ศอตช." งัด4กลไกคุมเข้ม

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านมา ป.ป.ท.ได้ปฎิบัติการเชิงรุกเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณการจัดซื้อพัสดุสำหรับป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโควิด-19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 73 หน่วยงาน ใน 37 จังหวัดซึ่งพบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง 16 รายการ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ ข้าราชการ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จะแจ้งไปยังต้นสังกัดเพื่อดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

ส่วนกรณีที่มี อปท.บางแห่งแจกเงินให้ชาวบ้านระหว่างที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 จะมีความผิดหรือไม่นั้น ในที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาและกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงว่า การดำเนินการต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวงซึ่งจะต้องไปดูตามระเบียบว่ามีหลักเกณฑ์ปฏิบัติอย่างไร หากเข้าข่ายหลักเกณฑ์ก็อาจจะมีความผิด ซึ่งต้องตรวจสอบเป็นรายกรณี