ไทยออยล์คาดสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบผันผวน

22 มิ.ย. 2563 | 09:14 น.

ราคาน้ำมันดิบผันผวน เหตุตลาดกังวลโควิด-19 ระบาดระลอก 2 ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 37- 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 39 - 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 – 26 มิ.. 63)

ราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้อาจมีการยกระดับการปิดเมืองอีกครั้ง ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการอาสาลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวตที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ในเดือน มิ.ย. 63 นอกเหนือจากข้อตกลงที่ให้ไว้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ และจีนอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันอีกครั้ง ล่าสุดจีนรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองปักกิ่ง ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 137 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการยกระดับมาตรการปิดเมือง เช่น การยกเลิกเที่ยวบิน การปิดโรงเรียน หรือแม้กระทั่งการควบคุมการผ่านเข้าออกในพื้นที่ ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ เองก็ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 ราย หลังทั้ง 50 รัฐของสหรัฐฯ มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวเตือนว่าเศรษฐกิจในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับสภาวะถดถอย ซึ่งมีความไม่แน่นอนว่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงหรือยาวนานมากน้อยเพียงใด

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สอง สู่ระดับ 539 ล้านบาร์เรล จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในเดือน ก.ค. 63 คาดว่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ โดยรวมในปี 2563 จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีแล้ว

รัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยืนยันในการให้ความร่วมมือลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร โดยประเทศที่เคยปรับลดกำลังการผลิตน้อยกว่าข้อตกลงจะปรับลดเพิ่มเติมชดเชยให้ถึงระดับที่ตกลง

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์เมื่อเดือน พ.ค. 63 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าอุปสงค์จะหดตัวที่ระดับ 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน  หลังเห็นทิศทางบริโภคน้ำมันที่สูงขึ้นหลังจากมาตรการปิดเมืองเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมองว่าอุปสงค์น้ำมันจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับระดับก่อนช่วงเกิดการแพร่ระบาดจนกว่าจะถึงปี 2565

Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 12 มิ.ย. 63 ปรับลดลง 7 แท่น สู่ ระดับ 199 แท่น ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 52

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน เดือน มิ.ย. 63 รายงานจำนวนคนยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 มิ.. 63) 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ในสหรัฐฯ จีนและเกาหลีใต้ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับลดลง หลังโอเปกยืนยันในการปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลง นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 63 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 

ที่มา : บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์ ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2563