“แชมป์ ศุภวัฒน์” เจ้าของเพลงนอนน้อย กับ กรณีศึกษาอาการ “หัวใจวาย”

21 มิ.ย. 2563 | 02:37 น.

“แชมป์ ศุภวัฒน์” เจ้าของเพลงนอนน้อย กับ กรณีศึกษาอาการ “หัวใจวาย”

การจากไปของ “แชมป์ ศุภวัฒน์” เจ้าของเพลงนอนน้อย ที่เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย

แล้วภาวะหัวใจวายเป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ค้นหาข้อมูลอาการหัวใจวาย จากโรงพยาบาลเปาโล มาเผยแพร่ติดตามอ่านจากบรรทัดถัดจากนี้!

ภาวะหัวใจวาย หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจอ่อนแอไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการในขณะนั้น ถึงแม้จะมีจำนวนเลือดมากพอ ส่วนใหญ่ภาวะหัวใจวายจะเกิดในระยะสุดท้ายของโรคหัวใจ ทั้งเป็นทั้งเป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคอื่น

ภาวะหัวใจวาย หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว 

มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ หัวใจห้องซ้ายวาย และหัวใจห้องขวาวาย ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดได้จากสภาวะทางโรคหัวใจ ได้แก่ จากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ โรคของกล้ามเนื้อหัวใจเอง โรคลิ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง การอักเสบ และการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ การได้รับสารพิษต่างๆ เช่น ยาบ้า การดื่มสุรา และแอลกอฮอล์ อาการที่พบ คือเหนื่อยง่าย ไอเมื่อออกแรง ออกกำลัง ขณะพักหายใจลำบาก แน่น หายใจเหนื่อยหอบขณะนอนราบ อาการดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นนั่ง ไม่มีแรง ข้อเท้าบวม แน่นในท้อง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการคั่งของน้ำโดยไม่ได้รับประทานอาหารมากขึ้น ความดันโลหิตสูง เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหนาตัว ต้องทำงานมากขึ้น และเกิดการล้มเหลวได้ พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว ได้แก่ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (อ้วน)

สัญญาณเตือน โรคหัวใจวาย

  • แน่นหน้าอก : โรคหัวใจวาย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับอาการแน่นหน้าอก มักเกิดนานกว่า 2 – 3 นาที หรือเป็นๆ หายๆ อาจรู้สึกเหมือนถูกกด บีบ และแน่นๆ ทำให้รู้สึกไม่สบาย
  • แสดงอาการส่วนบนของร่างกาย : รวมถึงการเจ็บบริเวณหลัง แขนข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง คอ ขากรรไกร และท้อง
  • หายใจสั้นลง : มักเกิดตามอาการแน่นหน้าอก หรือเกิดก่อนอาการแน่นหน้าอกได้
  • สัญญาณอื่นๆ : ตื่นกลัว คลื่นไส้ และปวด

 อาการต่างๆ เหล่านี้ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น พบได้ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกจนถึงผู้สูงอายุ แต่สาเหตุของการเกิดจะแตกต่างกันไป โดยรวมแล้วพบในผู้ที่อายุมาก ในประเทศที่กำลังพัฒนา พบความชุกของภาวะหัวใจวายประมาณ 2–3% ของประชากรทั้งหมด และหากอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป จะพบความชุกของภาวะนี้ได้ 20–30%

สาเหตุ ของการเกิดภาวะหัวใจวาย

  • โรคหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
  • โรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Dilated Cardiomyopathy
  • โรคลิ้นหัวใจต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้รับยา หรือสารบางประเภทเกินขนาด เช่น โคเคน แอลกอฮอล์ ได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคที่มีโปรตีนชื่อ Amyloid เข้าไปสะสมที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Amyloidosis) เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“แชมป์ ศุภวัฒน์” เจ้าของเพลง “นอนน้อย” เสียชีวิตแล้ว

อาการของโรคหัวใจวาย

ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเล็กน้อยจึงละเลยการมาพบแพทย์ และมีจำนวนไม่น้อยที่มาพบแพทย์เมื่ออาการหนัก ดังนั้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจวายควรทราบถึงอาการ พร้อมสังเกตติดตาม หากมีอาการแย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์

     • เหนื่อยง่าย หากโรคหัวใจเป็นไม่มากจะเหนื่อยเฉพาะเวลาทำงานหนัก (Dyspnea on Exertion) หากเป็นมากขึ้นความรุนแรงของอาการเหนื่อยจะมากขึ้น งานปกติที่เคยทำได้ก็จะเหนื่อย แม้แต่เวลาพักก็ยังรู้สึกเหนื่อย หากอาการเหนื่อยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ต้องรีบปรึกษาแพทย์

  • นอนแล้วจะมีอาการเหนื่อย หลังจากนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทำให้ต้องลุกขึ้นมานั่งอาการถึงจะดีขึ้น บางรายนอนราบไม่ได้เลย Orthopnea
  • อ่อนเพลียง่าย
  • เท้าบวม หรือท้องมาน เนื่องจากมีการคั่งของน้ำ
  • น้ำหนักเพิ่มอย่างเร็ว
  • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหากเสมหะมีสีแดงหรือชมพูปนออกมาต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากระบบย่อยอาหารได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง
  • ความจำเสื่อม มีการสับสน
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว

การรักษา 

ผู้ป่วยโรคหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายอย่างต่อเนื่องจนเกิดอาการหัวใจวาย จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในการรักษา ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • การใช้ยารักษา
  • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การทำ Balloon ขยายหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ
  • การใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ
  • หากเกิดอาการฉุกเฉินควรรวบรวมสมาธิ วางแผนการช่วยเหลือ โดยต้องให้การดูแลเบื้องต้น ดังนี้ 
    • ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ให้นอนยกหัวสูง หรือนั่ง หากมีออกซิเจนที่บ้าน เปิดระดับ 4-6 ลิตร ให้ผู้ป่วย หากเจ็บหน้าอกให้ยาอมใต้ลิ้นแก่ผู้ป่วย ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ
    • ผู้ป่วยที่หมดสติ หรือไม่รู้สึกตัว ให้นอนหงาย หันหน้าออกไปทางด้านข้าง หรือให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก ไม่ควรป้อนยาหอม หรืออาหาร เพราะจะเกิดการสำลัก ให้ออกซิเจน โทรปรึกษาแพทย์ หรือนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน